กระทรวงแรงงานย้ำสถานประกอบการไม่ต้องวิตก แรงงานต่างด้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการไม่ต้องหลบซ่อน หลังครม.มีมติขยายเวลาดำเนินการ ให้ต่างด้าวกลุ่มมติ 29 ธ.ค. 63 ตรวจโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (บต.48) ออกไปถึง 13 ก.ย. 64
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพและชีวิตของทั้งแรงงานต่างด้าว และแรงงานไทยในสถานประกอบการ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน และประชาชนโดยรวม ซึ่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 64 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาดำเนินการ ให้ต่างด้าวกลุ่มมติ 29 ธ.ค. 63 ตรวจโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (บต.48) ออกไปถึง 13 ก.ย. 64 เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ณ สถานพยาบาล ที่ซึ่งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จำต้องทุ่มเทเวลา และสถานที่ที่มีจำกัดไปกับผู้ติดเชื้อที่ยังทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กทม. น่าห่วง! พบ 8 คลัสเตอร์ใหม่ในพื้นที่ 5 เขต รวม 107 คลัสเตอร์เฝ้าระวัง
จับตา 5 จังหวัด เจอ 6 คลัสเตอร์ใหม่ สมุทรปราการน่าห่วงบริษัทเดียวป่วย 129 คน
เพิ่มต่อเนื่อง 3 จังหวัด เจอ 4 คลัสเตอร์ใหม่ บ้านเด็กอ่อน วุ่นพบติดเชิ้อ 39 คน
“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอย้ำว่า นายจ้าง/สถานประกอบการไม่ต้องกังวลใจ แรงงานต่างด้าวตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สามารถอยู่และทำงานได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องหลบหนีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ขอให้อยู่ในจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งสถานประกอบการที่ได้ขออนุญาตไว้ เพราะหากตรวจพบว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยมิได้รับอนุญาต นอกจากเสี่ยงเป็นเหตุแพร่ระบาดโรคโควิด19 แล้ว ยังอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ และพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย กรณีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตผ่านทางสำนักงานจัดหางานจังหวัด และปฏิบัติตามมาตรการของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ สำหรับแรงงานต่างด้าวในพื้นที่เสี่ยง เราจะลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุก และในกลุ่มเสี่ยงจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 โดยใช้งบจากกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 โดยตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพ และยื่นขออนุญาตทำงาน (บต. 48) กับกรมการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 13 ก.ย. 64 ยื่นผลการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ภายในวันที่ 18 ต.ค. 64 และจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ภายในวันที่ 31 มี.ค. 65 ในส่วนคนต่างด้าวที่ลงทะเบียนแบบไม่มีนายจ้าง ให้ขยายระยะเวลาการ จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ถึงวันที่ 31 มี.ค. 65
ทั้งนี้ ฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการ อย่ารับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หากไม่มีการจ้าง ย่อมไม่มีการลักลอบเข้ามาทำงาน ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 การลักลอบเข้ามาของแรงงานที่ไม่ได้ผ่านการตรวจคัดกรองโรค อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตัวนายจ้าง/สถานประกอบการ และกิจการ ตลอดจนชุมชนใกล้เคียงจนถึงระดับประเทศได้ ซึ่งกรมการจัดหางานจะตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับคนต่างด้าว และนายจ้างที่กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี