svasdssvasds

วิโรจน์ ชี้ 120 วัน เปิดประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนการฉีดวัคซีนโควิด

วิโรจน์ ชี้ 120 วัน เปิดประเทศได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนการฉีดวัคซีนโควิด

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน ที่นายกรัฐมนตรีประกาศ ชี้จากสถิติ ยังฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ต่ำกว่าเป้า ปัญหาคือการส่งมอบที่ล่าช้า และการกระจายวัคซีน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล วิเคราะห์เป้าหมายการเปิดประเทศ ภายใน 120  วัน ของนายกฯ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ดังต่อไปนี้  

เป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด เข็มแรก 50 ล้านคน เพื่อเปิดประเทศภายใน 120 วัน แม้แนวโน้มจะยังไม่ดีนัก แต่ก็ไม่เกินศักยภาพหากตั้งใจจะทำ

จากการแถลงการณ์ของนายกฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 64 เวลา 18.00 น. โดยประมาณ ใจความสำคัญ คือ

1. รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนไปแล้ว 105.5 ล้านโดส

รัฐบาลได้มีการลงนามในสัญญาจอง หรือสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ต้องการให้นายกฯ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้อนุมัติการดำเนินการดังกล่าวได้ผ่านมติ ครม. เมื่อใด และมีรายละเอียดเป็นอย่างไร เพราะจากการสืบค้นในมติ ครม. เบื้องต้น เข้าใจว่ายังไม่ได้มีการบันทึก จึงอยากให้ชี้แจงรายละเอียดส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย

พรรคก้าวไกล

2. นายกฯ ตั้งเป้าเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน

นายกฯ ได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ว่า จะต้องเปิดประเทศทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน นับจากวันนี้ ซึ่งก็คือวันที่ 14 ต.ค. 64 โดยนายกฯ ได้แจ้งเพิ่มเติมว่าประมาณต้นเดือน ต.ค. จะมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีน อย่างน้อยเข็มแรกแล้ว จำนวน 50 ล้านคน

ซึ่งอนุมานได้ว่าภายในวันที่ 14 ต.ค. 64 ที่จะมีการเปิดประเทศ จะต้องมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้ว จำนวนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านคน

แม้ว่าต่อมา รองนายกฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ จะชี้แจงว่าที่นายกฯ พูด จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่นายกฯ พูด แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายเปิดประเทศภายใน 120 วัน และฉีดวัคซีนโควิด เข็มแรก 50 ล้านคน ประชาชนควรยึดคำแถลงของนายกฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มาเป็นหลักในการติดตามความคืบหน้ามากกว่า

พรรคก้าวไกล

3. ประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยง

นายกฯ รู้ดีว่าการตัดสินใจเปิดประเทศมาพร้อมกับความเสี่ยง และขอให้ประชาชนยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง หากความเสี่ยงนั้น เราได้ประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่า อยู่ในระดับที่พอจะรับได้ ซึ่งการให้ประชาชนมาร่วมแบกรับความเสี่ยงร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถกระทำได้ เพราะรัฐบาลควรต้องชี้แจงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงนั้น ให้ประชาชนได้รับทราบ

เช่น สัญญาระหว่างรัฐบาลไทย กับ AstraZeneca Thailand

- กำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

- กำหนดการส่งมอบวัคซีนในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งเข้าใจดีว่า การผลิตวัคซีนซึ่งเป็นชีววัตถุ นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตยา และเวชภัณฑ์อื่นๆ แต่อย่างน้อยๆ การประมาณการจำนวนการส่งมอบขั้นต่ำ หรือการประมาณการเป็นช่วงจำนวน ย่อมอยู่ในวิสัยที่ทำได้

การลงทุนใดๆ ที่มีความเสี่ยง ยังต้องมีรายละเอียดของการลงทุนในหนังสือชี้ชวน เพื่อแจ้งให้ผู้ลงทุนรับทราบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก่อนการตัดสินใจลงทุน ต่อกรณีนี้หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องให้ประชาชนร่วมเอาชีวิตของตน และคนที่เขารักไปเสี่ยงด้วย รัฐบาลควรต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนรับทราบอย่างโปร่งใส ไม่ใช่ไม่บอก แต่ขอให้มาเสี่ยงร่วมกัน อย่างนี้ไม่น่าจะใช้หลักการที่ถูกต้อง

สำหรับเป้าหมาย ฉีดวัคซีนเข็มแรก 50 ล้านคน เพื่อเปิดประเทศในวันที่ 14 ต.ค. 64 (120 วัน) ผมได้นำเอาข้อมูลจากกรมควบคุมโรค [4] มาพล็อตกราฟ โดยพิจารณาข้อมูล 3 ด้านประกอบกัน ได้แก่

- จำนวนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ในแต่ละวัน ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64

- อัตราการฉีดที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย โดยเอาจำนวนการฉีดเข็มแรกที่เหลืออยู่ หารด้วยจำนวนวันที่เหลือ โดยคิดว่ามีการฉีดวัคซีนทุกวันไม่มีวันหยุด เพื่อให้ทราบว่าต้องมีอัตราการฉีดต่อวันเท่าไหร่ ถึงจะบรรลุเป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านคน ได้ภายใน 14 ต.ค. 64

- อัตราการฉีดเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งคำนวณหาค่าเฉลี่ยของจำนวนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ต่อวัน

จากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 16 มิ.ย. พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้ 50 ล้านคน

หากจะฉีดให้บรรลุเป้าหมายฉีดเข็มแรก 50 ล้านคน ภายใน 14 ต.ค. รัฐบาลจะต้องจัดฉีดวัคซีนโควิด เข็มแรกให้ได้วันละ 374,044 โดสต่อวัน ซึ่งจำนวนนี้ไม่ได้เกินไปกว่าศักยภาพของการจัดฉีดของโรงพยาบาลเลย เพราะในวันที่ 8 มิ.ย. โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้รวมกันสูงถึง 428,459 โดส ถ้ามีวัคซีนเพียงพอ มีระบบการจองวัคซีนที่ฐานข้อมูลเชื่อมโยงกัน มีระบบในการบริหาร และกระจายสต๊อกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

โดยโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีวัคซีนเพียงพอต่อการฉีด การฉีดวัคซีนเข็มแรกวันละ 374,044 โดส อยู่ในวิสัยที่ทำได้ (สำหรับเข็มที่ 2 อาจจะยังไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะการฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ถึง 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน) ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการก็คือ

- การติดตามการส่งมอบวัคซีนจาก AstraZeneca อย่างใกล้ชิด และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลในการจองวัคซีนผ่านแอปต่างๆ ให้เชื่อมโยงกัน ซึ่งควรต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย. นี้

- การกระจายสต๊อกวัคซีนอย่างถูกต้องตามจำนวนการลงทะเบียน กำกับติดตามให้ไม่มีระบบ VIP ก็จะทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมายได้

2. ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. 64 ฉีดวัคซีนตามเป้าได้ไม่กี่วัน

แต่ที่ต้องสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ก็คือ นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นมา มีเพียงวันที่ 7 และวันที่ 8 เพียง 2 วัน เท่านั้นที่จำนวนการฉีดเข็มแรกนั้นสูงกว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย และนับจากวันที่ 8 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีวันใด ที่มีจำนวนการฉีดวัคซีนเข็มแรกที่มากกว่าในวันที่ 7 และวันที่ 8 อีกเลย

3. การฉีดวัคซีนของรัฐบาล มีความกระท่อนกระแท่น

จำนวนการฉีดวัคซีนเข็มแรกในแต่ละวันมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าในวันที่ 14 มิ.ย. จะมีจำนวนการฉีดที่ขยับเพิ่มขึ้น แต่ก็มีการปรับตัวลดลงในวันที่ 15 และ 16 ตามลำดับ

โดยวันที่ 16 มิ.ย. ฉีดเข็มแรกได้เพียง 166,528 โดส เท่านั้น จากการฉีดมา 10 วัน มีเพียง 2 วัน คือ วันที่ 12 และ 13 เท่านั้น ที่มีจำนวนการฉีดเข็มแรกน้อยกว่า

ซึ่งสะท้อนว่าการฉีดวัคซีนของรัฐบาลมีความกระท่อนกระแท่นมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. เป็นต้นมา ซึ่งถ้าการฉีดวัคซีนยังคงกระท่อนกระแท่นอย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ “อัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกเฉลี่ยต่อวัน” ปรับตัวลดลง ยอดฉีดวัคซีนก็จะตกค้าง ทำให้ “อัตราการฉีดวัคซีนที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย” ขยับสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย ลดลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น รัฐบาลต้องติดตามจำนวนการฉีดวัคซีนเข็มแรกในแต่ละวันอย่างใกล้ชิด หากพบปัญหาหน้างานใดๆ ต้องเร่งแก้ไขโดยทันที จะปล่อยให้เป็นปัญหาดินพอกหางหมูสะสมไม่ได้ โดยเด็ดขาด

สำหรับข้อมูลจำนวนการฉีดวัคซีนเข็มแรก อัตราการฉีดวัคซีนที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย และอัตราการฉีดวัคซีนเข็มแรกเฉลี่ยต่อวัน ผมจะนำมา Update ให้กับประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ ครับ

ที่มา : Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

related