กรุงเทพมหานคร (กทม.) โต้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจงได้มา 5 แสนโดส ไม่ใช่ล้านโดส ยืนยัน กทม.ไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน ชี้หากวัคซีนพร้อมตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีด
จากกรณีที่โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศเลื่อนนัดหมายฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากทางรัฐบาล ซึ่งต่อมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า กรมควบคุมโรคได้กระจายวัคซีนตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แล้ว
ซึ่งหลังจากนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารจำนวนวัคซีน ส่วนที่โรงพยาบาลในพื้นที่ กทม. เลื่อนฉีด เพราะไม่ได้รับวัคซีน จะต้องไปสอบถามข้อมูลจากสำนักอนามัยกรุงเทพฯ ว่าจัดสรรไปในแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ได้ออกชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุว่า
จากกรณีที่ทางกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าได้ให้วัคซีนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มาแล้ว 1 ล้านโดส ตามแผน เดือน มิ.ย. 64 นั้น กรุงเทพมหานครขอให้ข้อมูลดังนี้
1. ตามแผนการจัดสรรวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข กทม. ได้รับการแจ้งว่าจะได้รับการจัดสรร AstraZeneca 2.5 ล้านโดส ซึ่งให้กทม.ไปทำแผนการฉีดให้สอดคล้อง
2. สำหรับวัคซีนที่ใช้ในวันที่ 7-14 มิ.ย 64 กทม.ได้รับวัคซีน AstraZeneca
จำนวน 350,000 โดส Sinovac 150,000 โดส
แบ่งการใช้วัคซีน AstraZeneca เป็น
- ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส
- เข็มที่สอง 52,600 โดส
- ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง 8,000 โดส
- ประชาชนทั่วไป 100,000 โดส
- สำรองสำหรับควบคุมโรค 8,000 โดส
ส่วน Sinovac แบ่งการใช้เป็น
- เข็มที่สอง สำหรับการควบคุมโรค (พื้นที่ระบาดรุนแรง) 128,000 โดส
- ควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่ 26,000 โดส
3. การจองผ่านระบบหมอพร้อม เป็นการเปิดให้ รพ.ทุกแห่งในกรุงเทพฯ มาช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่เปิดพร้อมกันทั้งประเทศ ดังนั้น กทม. จึง ไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน
ซึ่งในเดือน มิ.ย.นี้ ผู้ที่ลงหมอพร้อมในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 450,000 ราย
4. กทม.ยืนยันว่า กทม.พร้อม สถานที่พร้อม บุคลากรพร้อม และหาก "วัคซีนพร้อม" ตามแผน กทม.พร้อมจะดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที