ศบค. เผย เขตห้วยขวาง พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 78 ราย สะสม 112 ราย ขณะที่ กทม.เตรียมระดมตรวจให้ครบ 486 ตลาดทั่วกรุง พร้อมเรียก 134 บริษัท 409 แคมป์คนงาน หารือบับเบิ้ลแอนด์ซีล
วันนี้ (30 พ.ค.64) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2519(โควิด-19)หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม 2564 ว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 83 สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 4,528 รายติดเชื้อในประเทศ 2,599 ติดเชื้อจากต่างประเทศ 27 ราย จากเรือนจำที่ต้องขัง 1,902 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 125,444 ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 154,307 ราย หายป่วยแล้ว 2,933 หายป่วยสะสม 77,818 เสียชีวิต 24 ราย เสียชีวิตสะสม 918 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 48,051 ราย อาการหนัก 1,209 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 389 ราย สำหรับการฉีดวัคซีน 3,548,330 โดส แบ่งเป็นเข็มที่หนึ่ง 37,904 ราย เข็มที่สอง 6,301 ราย
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า สำหรับรายงานการติดเชื้อทั่วประเทศรายใหม่วันนี้ กรุงเทพมหานคร 754 รายปริมณฑล 557 ราย จังหวัดอื่นๆ 12,88 ราย เรือนจำและที่ต้องขัง 1,902 ราย
ทั้งนี้มีการพูดคุยในที่ประชุม ศบค. ชุดเล็ก เนื่องจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่ติดกัน ดังนั้นหากเราพยายามจะควบคุมตัวเลขกรุงเทพมหานครให้ลดลงจะส่งผลให้ตัวเลขปริมณฑลและรวมไปถึงจังหวัดอื่นๆเช่น ราชบุรี เพชรบุรี มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขจะลดลง เพราะมีลักษณะการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชน หรือผู้ที่ทำงานสถานประกอบการ ตลาดชุมชน
สำหรับผู้ที่เสียชีวิต 24 ราย เป็นชาย 11 รายหญิง 13 ราย กรุงเทพมหานคร 14 ราย นนทบุรี 3 ราย ชลบุรี 2 ราย เชียงใหม่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ1 ราย อายุน้อยสุด 38 ปีสูงสุด 86 ปี โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไตเรื้อรัง หลอดเลือดสมอง โรคปอด หัวใจ ติดเตียง ปัจจัยเสี่ยง คนในครอบครัวคนอื่นๆ อาศัย/เดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาด ไปในที่คนหนาแน่น ซึ่งพบว่ายังเป็นการติดเชื้อจากคนในครอบครัว ขอเน้นย้ำว่าในครอบครัวที่อยู่อาศัยร่วมกันในลักษณะหลายช่วงวัย และมีผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีลูกหลานเป็นวัยทำงานเดินทางข้ามพื้น ที่มีการค้าขายข้ามจังหวัด เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเสียชีวิต ทั้งนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลงสถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง แม้ตัวเลขที่พบเยอะขึ้นจากการคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำ รวมถึงการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันว่าพบเชื้อในตลาดหรือแคมป์แรงงาน คนเหล่านี้ยังมีพฤติกรรมไปในพื้นที่ชุมชน จับจ่ายซื้อของที่ตลาด ทำให้ประชาชนที่ใช้ชีวิตปกติอาจกลายเป็นผู้ติดเชื้อ จึงขอให้ใช้มาตรการส่วนบุคคลสูงสุด
สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศรวม 27 ราย จากประเทศกัมพูชา 24 ราย โดย 23 ราย เดินทางอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ 1 ราย เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติที่ผิดกฎหมาย ทำให้ยอดการสกัดกั้นการลักลอบเข้าประเทศ 24 ชั่วโมงมี 139 ราย จากมาเลเซีย 2 ราย
สำหรับ 10 อันดับแรก การติดเชื้อรายใหม่กรุงเทพมหานคร 754 ราย เพชรบุรี 754 ราย สมุทรปราการ 264 ราย นนทบุรี 139 ราย ชลบุรี 90 ราย ปทุมธานี 73 ราย นราธิวาส 65 ราย ฉะเชิงเทรา 65 ราย สมุทรสาคร 58 รายและตรัง 44 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำรวมสะสม 24,300 ราย นอกเรือนจำ 100,412 ราย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือมีความเป็นห่วงเรื่องการจัดการในเรือนจำ เมื่อพบผู้ติดเชื้อกรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบ การจะส่งผู้ป่วยออกมารักษาด้านนอกอาจจะทำไม่ได้ ดังนั้นในแง่ของการดูแลรักษาภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเรือนจำ ก็มีการจัดการดูแลทั้งระดับเขียว เหลือง แดง และมีการพูดคุยในเรื่องของคุณภาพการรักษาที่ตัวเลขค่อนข้างสูง การใช้เตียง ชุดเครื่องช่วยหายใจภายในเรือนจำ รวมถึงบุคลากรที่ทำงานในนั้นเราเป็นห่วงอยากให้มีการดูแลบุคลากรที่เขาจะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมด้วย สำหรับจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ 22 จังหวัดเชียงใหม่ พัทลุง มหาสารคาม อุบลราชธานี ชัยภูมิลำพูน ลำปาง พิจิตร นครพนม ตราด น่าน สุโขทัยพะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท พังงาอำนาจเจริญแม่ฮ่องสอน มุกดาหาร และสตูล สำหรับจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อมากกว่า 100 ราย คือกรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สมุทรปราการ และนนทบุรี
สำหรับกรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 754 จากระบบเฝ้าระวังและจากโรงพยาบาล ชาวไทย 490 ราย ต่างด้าว 55 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนชาวไทย 105 ราย ต่างด้าว 104 ราย และวันนี้ไม่มีการพบคลัสเตอร์ใหม่ มีการดูแลใน 28 เขต 47 คลัสเตอร์ และรายงานวันนี้ที่ตลาดห้วยขวาง มีผู้ป่วยรายใหม่จากตลาด 78 รายทำให้ยอดสะสม 112 ราย จากเดิมที่มีคลัสเตอร์โรงปูนรวมทั้งแคมป์ก่อสร้าง วันนี้ยังมีตลาดห้วยขวาง ที่ประชุมจึงมีการพูดคุยหารือกัน เขตที่ยังไม่มีการติดเชื้อต้องลงดูพื้นที่ตลาด วันนี้กรุงเทพมหานครรายงานตลาดที่จดทะเบียน 486 ตลาด มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก 28 ตลาด รายงานผู้ติดเชื้อรวม 6.6% และแผนกรุงเทพมหานครจะระดมตรวจให้ครบ 486 ตลาด และทำให้รวดเร็วยิ่งขึ้นมีการเก็บตัวอย่างน้ำลาย และแผนจะทำให้ได้ 30,300 ราย โดยจะมีการระดมตรวจในแง่การตรวจหาเชื้อจากบุคคลที่อยู่ในตลาดรวมการตรวจสุขาภิบาลของตลาด รวมถึงมาตรการสิ่งแวดล้อม จุดสัมผัส หรือแม้กระทั่งการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง ทั้งนี้ขอให้ผู้ประกอบการเจ้าของตลาดศึกษารายละเอียดไทยสต็อปเซอร์วิส หากจะรอให้หน่วยงานของ กรุงเทพมหานคร หรือภาครัฐ จังหวัดตรวจตลาดอาจจะทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงขอความร่วมมือผู้จัดการตลาด ผู้นำชุมชน เจ้าของตลาด ตรวจสอบประเมินตนเองจะเป็นการช่วยให้ตลาดและชุมชนก็จะปลอดภัยไปด้วย
นอกจากนี้ในที่ประชุมมีการพูดคุยเรื่องแคมป์คนงานที่มี 409 แคมป์ และเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการจำนวน 134 ราย ซึ่งพื้นที่ที่มีความแออัดของแคมป์ก่อสร้าง เช่น บางกะปิ บางเขน ลาดพร้าว และห้วยขวาง จะต้องให้ ผอ.เขตลงพื้นที่ชี้แจงกับผู้ประกอบการ ส่วนกรมโยธาธิการจะเรียกทั้ง 134 บริษัท มาพูดคุยหารือและขอความร่วมมือให้ดูแลสภาพแวดล้อมของไซต์ก่อสร้าง เรื่องความสะอาด รวมถึงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งมีการหารือว่าหากบางแคมป์ที่ไม่สามารถทำตามมาตราการที่กำหนด ไม่ปรับตัว หรือไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องมีการทบทวนบทลงโทษอีกด้วย
มีการรายงานจากกระทรวงแรงงานตั้งแต่ 13 กุมภาพันธุ์ แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนถึง 416,769 รายและในวันนี้ยังมีตกค้างอยู่อีกประมาณ 200,000 รายเฉพาะ กรุงเทพมหานครอยู่ที่ประมาณ 70,000 รายต้องขอความร่วมมือไปยังนายจ้างไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแคมป์ก่อสร้างทำงาน สถานประกอบการร้านอาหาร โรงงาน นายจ้างต้องรับผิดชอบติดตามข่าวสารพาแรงงานเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบให้ได้รับการตรวจสุขภาพ และขอความร่วมมือประชาชนไม่กล่าวโทษคนติดเชื้อซึ่งเขาไม่ได้มีเจตนาจะเป็นคนติดเชื้อ การแพร่เชื้อ ซึ่งบ่อยครั้งจะเห็นการวิพากษ์วิจารณ์เชื้อชาติทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ต้องขอความกรุณา เพราะไม่มีความจำเป็นและไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น