กรณีการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ถือเป็นคดีที่สั่นสะเทือนไปทั้งโลก เพราะมันส่งผลสะท้อนไปยังการประท้วงทั่วสหรัฐ และกระจายไปยังทั่วโลก ในแคมเปญ black lives matter เคสนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาลึกๆในสังคมสหรัฐที่ยังมีเรื่องการเหยียดผิวซ่อนอยู่ และล่าสุดได้มีการตัดสินแล้ว และมีบทเรียนมากมายจากเรื่องนี้
การประท้วงแคมเปญ black lives matter หรือ ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย เกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ และลุกลามไปทั่วโลก ทุกวงการ หลังจากเกิดกรณี "เดเร็ค ชอวิน" ตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดคอ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายอเมริกันผิวดำ เป็นเวลา 9 นาที ระหว่างการจับกุม จนฟลอยด์เสียชีวิต ที่เมืองมินนิแอโปลิส เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมปีที่แล้ว
เรื่องนี้ เป็นดังไฟไหม้ลามทุ่ง เพราะคลิปวิดีโอที่ศาลเผยแพร่ออกมาบางส่วนก่อนหน้านี้ สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก เพราะจอร์จ ฟลอยด์ไม่ได้ขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเลย และร้องบอกหลายครั้งว่าเขาหายใจไม่ออก พร้อมกับบอกรักแม่และครอบครัวของเขาก่อนเสียชีวิต...
ประเด็นนี้เป็นการตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่เกินเลยขอบเขต และคำถามถึงการ "เหยียดผิว" ที่มีอยู่ ลึกๆในสังคมอเมริกัน รวมถึงสังคมโลก
เรื่องราวนี้ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของสหรัฐ จนกระทั่งล่าสุด มีคำตัดสินคดีนี้ โดยคณะลูกขุนศาลแขวงเฮนเนพิน เมืองมินนิแอโปลิส รัฐมินเนโซตา ให้ชอวินมีความผิดในทุกข้อกล่าวหา ได้แก่ ฆ่าผู้อื่นโดยไม่ได้เตรียมการไว้ก่อน, กระทำการโดยไม่เจตนาฆ่า แต่ไม่ให้ความสำคัญกับผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต และทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตโดยประมาท ซึ่งหากพิจารณาจากโทษสูงสุดทั้ง 3 คดีรวมกัน ชอวิน อาจต้องถูกจำคุกสูงสุดนานถึง 75 ปี
การตัดสินของศาลรัฐมินเนโซตา เป็นราวกับในหนังฮอลิวู้ด ที่โดยจะมี การหารือของคณะลูกขุนเริ่มขึ้นเมื่อวันจันทร์ และคณะลูกขุนทั้งหมด จะถูกเก็บตัว จัดให้พักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง ห้ามกลับบ้านและห้ามติดต่อกับใครจนกว่าจะมีคำตัดสินออกมาเป็นเอกฉันท์ ซึ่งออกมาในวันพุธ
เมื่อคำตัดสินออกมา นับเป็นชัยชนะของกลุ่มผู้สนับสนุนจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาบนท้องถนน บ้างตะโกนโห่ร้อง บางคนโยนสวมกอดกัน อีกหลายคนพากันบีบแตรเพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับคำตัดสินของศาลครั้งนี้
ด้าน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นว่า คำพิพากษาที่เกิดนี้คือ ถือเป็นก้าวแรกในการเดินสู่ความยุติธรรมด้านสีผิวและเชื้อชาติในสหรัฐ หลังจากนี้จึงขอรณรงค์ให้ชาวอเมริกันร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง จนกลายเป็นบรรทัดฐานสังคม เพื่อลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดแบบคดีจอร์จ ฟลอยด์อีก
ส่วนรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กมลา แฮร์ริส ยังเสนอให้วุฒิสภาผ่านกฎหมาย จอร์จ ฟลอยด์ ว่าด้วยความยุติธรรมในกิจการตำรวจ (George Floyd Justice in Policing Act) โดยเป็นร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ เพื่อหยุดการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของตำรวจ ต่อชาวแอฟริกันอเมริกันและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
ในทางกลับกัน เดเรค ชอวิน วัย 45 ปี ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอดีตตำรวจมินนิแอโพลิส ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทนายความของเขาพยายามต่อสู้ว่าลูกความของตนปฏิบัติตามหน้าที่ แต่คณะลูกขุนมองว่าเขาทำเกินกว่าเหตุ
โดยชอวินพยายามสู้คดี โดยอ้างว่าคณะลูกขุนมีอคติจากการรายงานข่าวของสื่อ และคดีแพ่งที่ครอบครัวของจอร์จ ฟลอยด์ ยื่นฟ้อง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า โอกาสในการชนะคดีของอดีตตำรวจรายนี้ค่อนข้างน้อย
หลังฟังคำตัดสินและผู้พิพากษาสั่งถอนประกัน จากนั้นเขาถูกใส่กุญแจมือพาตัวออกจากห้องพิจารณาคดี และนำตัวไปคุมขังที่สำนักงานนายอำเภอเฮนเนพิน เคาน์ตี้ ต่อไป
ด้านปฏิกิริยา เบนจามิน ครัมป์ ทนายความของครอบครัวจอร์จ ฟลอยด์ เผยว่า ในที่สุดก็ได้รับความยุติธรรมที่แลกมาด้วยความเจ็บปวดแล้ว นี่เป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ประเทศ ที่หวังว่าผู้บังคับใช้กฎหมายหลาย ๆเมือง หลาย ๆ รัฐจะได้ยิน เพราะ “ความยุติธรรมสำหรับอเมริกันผิวดำ คือความยุติธรรมสำหรับอเมริกันทุกคน”
ส่วนที่จัตุรัสจอร์จ ฟลอยด์ ในเมืองมินนิแอโปลิส บริเวณจุดเกิดเหตุที่ฟลอยด์เสียชีวิต และได้ตั้งชื่อตามเขาในภายหลัง ประชาชนที่มารวมตัวกันเพื่อฟังคำตัดสินผ่านทางออนไลน์ ต่างยินดีกับคำตัดสินดังกล่าว
เรื่องราวคดีนี้นับเป็น เคสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติที่ซุกซ่อนอยู่ในสังคมสหรัฐ
"เราไม่ได้กำลังพยายามทำสงครามเชื้อชาติ แต่เรากำลังพยายามจะยุติมันต่างหาก..." มาเรน เบียร์ด หนึ่งในประชาชนสหรัฐที่ติดตามการตัดสินคดีของจอร์จ ฟลอยด์กล่าวสรุปต่อเรื่องนี้ด้วยข้อความบาดใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• #justiceforponzu ขึ้นเทรนด์ ทวงคืนความยุติธรรมให้แมวเอเชียที่ถูกฆ่า
• จากอาม่านักสู้ : สู่การรณรงค์เลิกเหยียดเชื้อชาติเอเชีย