svasdssvasds

จับตา! แบงก์รับมือเงินฝากล้นทะลัก โควิดทำคนไม่กล้าใช้เงิน ไม่กล้าลงทุน

จับตา! แบงก์รับมือเงินฝากล้นทะลัก โควิดทำคนไม่กล้าใช้เงิน ไม่กล้าลงทุน

ช่วงนี้เศรษฐกิจไทยต้องจับตาใกล้ชิดจากผลกระทบโควิด -19 ทำให้คนไม่กล้าเอาเงินฝากมาใช้จ่าย ไม่ลงทุน แบงก์จึงต้องรับมือกับปัญหาเงินฝากล้นแบงก์

ช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก สถานการณ์ยังไม่ค่อยจะดีขึ้น ทำให้ผู้คนต้องคอยระแวดระวังเรื่องการใช้ชีวิต และเรื่องการใช้เงิน ใช้ทอง คนไม่มีอันจะกินก็ไม่มีจริง ๆ ส่วนมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ก็ต้องประหยัดกันไป ค่าใช้จ่ายอะไรลดได้ก็ลดไปก่อนช่วงนี้ หรือหันมาออมเงิน ให้มีเงินฝากมากขึ้นเพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต ส่วนคนที่มีเงินอยู่แล้ว ก็ไม่มีการใช้จ่ายใดๆ ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีการนำเงินออกมาหมุนในระบบเศรษฐกิจ

โดยก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาประเมินว่ายอดเงินฝากคงค้างปี 2564 จะเพิ่มทะลุ 15 ล้านล้านบาท ส่วนธนาคาร“ซีไอเอ็มบี ไทย” ก็ได้ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่าเริ่มเห็นสัญญาณเงินฝากไหลจากแบงก์ใหญ่เข้าแบงก์เล็กคาดว่าเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ล้นเกินจากภาวะปล่อยสินเชื่อไม่ออกว เหตุผลหลักคือ คนไม่กล้ากู้เงิน บวกกับผู้ฝากเร่งกระจายความเสี่ยง จากกรณีวงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดเหลือ 1 ล้านบาทในปี 2564 พร้อมได้ชี้ว่ามีโอกาสเห็นหั่นดอกเบี้ยเงินฝาก “e-Saving”

‘นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์’ ผู้บริหารสายงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกว่า ปี2564 นี้เงินฝาก เงินออมในภาพรวมน่าจะเติบโตชะลอลงอยู่ที่ระดับ 3.5-5% โดยจะไม่เห็นธนาคารพาณิชย์เร่งระดมเงินฝาก แต่จะเป็นการรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอ เนื่องจากสภาพคล่องปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูงโดย ณ สิ้นปี 2563 มีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (L/D) อยู่ที่ 91.6% และคาดว่าในปี 2564 สัดส่วน L/D จะทรงตัวใกล้เคียงกัน

โดย ‘นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร’ ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย บอกว่า ในปี 2564 นี้ คาดว่าแนวโน้มเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 1-2 นี้โดยเฉพาะในแบงก์ขนาดใหญ่ และหลังจากนั้นจะทยอยไหลไปสู่แบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และลูกค้าบางส่วนกังวลที่จะขอสินเชื่อเพิ่ม ส่งผลให้มีแนวโน้มที่เงินฝาก เงินออม หรือสภาพคล่องจะท่วมระบบแบงก์ โดยเฉพาะแบงก์ใหญ่

คนหันมาฝากเงิน

โควิด-19 ระบาด ทำคนไทยหันมาฝากเงินมากขึ้น

ทั้งนี้แบงก์ขนาดใหญ่มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง เพื่อบริหารสภาพคล่องและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากประเภท e-Saving ที่ให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงถึง 1.5% เทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 0.20-0.25% เท่านั้น ขณะที่เงินฝากประจำอาจจะไม่มีการปรับ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ระดับค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณเงินฝากทยอยไหลเข้ามาแบงก์ ส่วนหนึ่งมาจากแบงก์ใหญ่ และผู้ฝากเงินเริ่มกระจายความเสี่ยง เพราะในปี2564 การคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเหลือเพียง 1 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงินตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 นี้เป็นต้นไป อีกทั้งรวมถึงถ้าดูผลทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะเห็นว่าแบงก์เล็กมีความแข็งแกร่ง ผู้ฝากเงินจึงมีความมั่นใจ ประกอบกับแบงก์ใหญ่ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมาก ทำให้เงินฝากจึงค่อนข้างท่วม ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์กันว่าเงินฝากถือเป็นแหล่งพักเงิน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยกระดับขึ้น อาจจะทำให้คนหันมาพักเงินไว้ก่อน เนื่องจากเงินฝากยังคงได้รับดอกเบี้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นภาพที่เงินฝากท่วมได้ โดยมีการประเมินยอดคงค้างเงินฝากสิ้นปี2564จะอยู่ที่ 15.1 ล้านล้านบาท จากปี 2563ที่มียอดคงค้างเงินฝากอยู่ที่ 14.6 ล้านล้าน ต้องจับตาดูเรื่องนี้ต่อไป เพราะแบงก์เองก็ยังหามาตรการรับมืออยู่ !

related