svasdssvasds

สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายห้ามผู้ป่วยโควิดกักตัวอยู่บ้าน ต้องเปลี่ยนไหม ?

สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายห้ามผู้ป่วยโควิดกักตัวอยู่บ้าน ต้องเปลี่ยนไหม ?

นโยบายของรัฐ ผู้ติดโควิด 19 จะต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น หากกักตัวอยู่บ้าน ในทางกฎหมาย ถือว่ามีความผิด แต่จากกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เปลี่ยนไป นโยบายต้องเปลี่ยนด้วยหรือไม่ ?

ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายวันทะลุหลักพันติดต่อกันมาหลายวัน จากการระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้ป่วยโควิด 19 ล้นโรงพยาบาล กระทั่งต้องมีการสร้างโรงพยาบาลสนามในหลายพื้นที่ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่า จะลดลงในระยะเวลาอันใกล้

เมื่อสถานการณ์ไม่เหมือนเดิม และมีแนวโน้มว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีนักวิชาการ รวมถึงแพทย์บางส่วน ออกมาเสนอแนะว่า ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบไม่มีอาการ ถ้าได้รับการอนุญาตให้กักตัวอยู่บ้าน เพื่อเก็บเตียงในสถานพยาบาลทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน  ให้กับกลุ่มผู้ที่มีอาการ และอาการหนัก ก็จะแก้ปัญหาเรื่องการรองรับผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่ง

นโยบายและการปฏิบัติ ต้องชัดเจน สอดคล้องกับสถานการณ์

แต่ถึงกระนั้นก็ตามที  ข้อเสนอให้ผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีอาการ กักตัวเองอยู่ที่บ้าน มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน  แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐต้องมีนโยบายในการรับมือที่ชัดเจน และสอดคล้องกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที

เพราะในวันนี้แม้รัฐจะยืนยันว่า ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล  แต่ในทางปฏิบัติ กลับมีสถานที่รองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ จนเกิดกรณีทางโรงพยาบาลแจ้งให้ผู้ป่วยหลายรายกักตัวอยู่ที่บ้านไปพลางๆ ก่อน จนกว่าทางโรงพยาบาลจะหาเตียงให้ได้ ก่อให้เกิดความสับสนตามมา ระหว่างนโยบายที่ประกาศ กับความเป็นจริงที่เผชิญ    

ส่วนกรณีถ้าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ สมัครใจขอกักตัวเองอยู่ที่บ้านเอง ก็มีการขู่จากภาครัฐว่า เข้าข่ายผิดกฎหมาย โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยในมาตรา 34 (1) ระบุไว้ว่า “ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ มารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์

“และเพื่อความปลอดภัย อาจดําเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกําหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย...”

หน้ากากอนามัย

รัฐย้ำนโยบาย “ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลเท่านั้น”

เมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกร​มควบคุมโรค​ ได้กล่าวยืนยันในการแถลงของกระทรวงสาธารณสุขว่า สามารถรับผู้ป่วยสู่ระบบการรักษาในสถานพยาบาลได้อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งย้ำว่า ผู้ป่วยโควิด  19 ทุกคน ต้องเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล  

สะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐยังคงเลือกใช้ยุทธวิธีเดิม ทั้งๆ ที่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และความจริงที่ต้องเจอ ในวันนี้ผู้ป่วยหลายราย ก็ยังไม่สามารถเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลได้

“ผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายท่าน ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากบางทีเขาไปตรวจในห้องปฏิบัติการของเอกชน (ที่ไม่มีโรงพยาบาล)  ซึ่งในภาครวมถ้าตรวจในห้องปฏิบัติการ เขาจะมีโรงพยาบาลรองรับ เพื่อให้แน่ใจว่า พอมีผลบวกก็จะมีโรงพยาบาลดูแลได้อย่างต่อเนื่อง

“แต่มีหลายห้องปฏิบัติการ ไม่ได้มีโรงพยาบาลรองรับ วันที่ 12 เมษายน ทางกรมการแพทย์ก็ได้เป็นแม่งานในการจัดการปัญหานี้ โดย 1. ให้โรงพยาบาลของภาคเอกชนทุกแห่งรวมตัวกันเป็นเครือข่าย  ให้ส่งต่อระหว่างกัน  ซึ่งขณะนี้มีเตียงว่างในโรงพยาบาลเอกชนเป็นหลักพันเตียงขึ้นไป

“อันที่ 2 ก็คือในกรณีที่มีผู้ติดเชื้อมากขึ้นจริงๆ ก็จะมีการจัดเตรียมโรงแรมให้กลายเป็นโรงพยาบาล  ที่เรียกว่า Hospitel ซึ่งตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการ มีการเปิดรองรับได้มากกวา 4 พันเตียง แล้วขณะนี้

“แล้วก็เรื่องโรงพยาบาลสนาม ขณะนี้หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น กทม. กองทัพ มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุขเอง ได้เร่งหาที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการไปอยู่ตรงนั้น  และมีระบบการดูแลรองรับ อย่างที่เราเคยทำในหลายพื้นที่     

“อันนี้จะเป็นภาพรวม ก็ขอให้พี่น้องประชานมั่นใจว่า ผู้ติดเชื้อทุกคน จะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล  โรงพยาบาลมีเตียงเพียงพอ ขณะนี้ที่คำนวณคร่าวๆ  3 หมื่นเตียงมีอยู่ในมือเรียบร้อย ที่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้...

“...จุดหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องการบริหารจัดการ  ถ้าท่านมีข้อสงสัย หรือเป็นผู้ติดเชื้อยังไม่ได้อยู่โรงพยาบาล ก็ขอให้โทรไปที่หมายเลข 1330 หรือ 1668 หรือ 1669 ก็จะมีเจ้าหน้าที่รับตัวไปที่โรงพยาบาลที่กำหนดต่อไป ก็ขอย้ำอีกครั้งนะครับ ผู้ติดเชื้อจะต้องอยู่โรงพยาบาลเท่านั้น”

หน้ากากอนามัย

ผู้ติดเชื้อกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ผิดกฎหมาย

และในการแถลงในวันนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโควิด 19 กักตัวอยู่บ้าน ถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงในเวลานี้  มีผู้ป่วยหลายรายยังไม่มีสถานพยาบาลรับรอง และเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอง ที่ขอให้กักตัวอยู่ที่บ้านไปก่อน จนกว่าจะสามารถประสานหาเตียงให้ได้   

“สำหรับผู้ติดเชื้อ  ที่เราต้องให้มาอยู่สถานพยาบาล ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ จะต้องได้รับการดูแล ติดตาม โดยแพทย์อย่างใกล้ชิด อย่างที่เราทราบว่าตอนนี้มีผู้ติดเชื้อ เป็นปอดบวมโดยไม่มีอาการ แล้วอาการสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยทุกคนต้องอยู่ในความดูแลขอแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารฯณสุขเท่านั้น

“วันนี้ไม่มีอาการไม่ได้แปลว่า พรุ่งนี้จะไม่มีอาการนะครับ อาจจะมีอาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้เพราะฉะนั้นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่างใกล้ชิด

“ประการที่ 2 ผู้ติดเชื้อ มีการแพร่เชื้อออกมา เวลาไอ เวลาจาม  เวลาพูดคุยกับใคร  เขามีความเสี่ยงที่จะเอาเชื้อไปแพร่กระจายสู่คนอื่น เพราะฉะนั้นการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษา การควบคุมกำกับ จึงมีความสำคัญมาก

“แล้วประเทศไทย ตามที่ผมได้เรียนตอนต้น เรามีเตียงเพียงพอ  เรามีหยูกยา มีบุคลากรที่ดูแลอย่างเพียงพอ ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากจนดูแลไม่ไหว เขาถึงให้ไปดูแลที่บ้าน

“ก็คงนำเรียนว่า ถ้าท่านใดเป็นผู้ติดเชื้อแล้วยังอยู่บ้าน ให้โทรไปที่หมายเลขโทรศัพท์ที่กำหนด ไม่ควรอยู่ที่บ้านเด็ดขาด อันนี้ผมยังไม่ได้พูดถึงประเด็นกฎหมายนะครับ เพราะว่าโรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตราย

“ถ้าเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ สั่งให้ท่านมารักษา แล้วไม่มารักษา ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย อันนี้เราไม่อยากใช้มาตรการทางกฎหมาย เพราะฉะนั้นท่านที่เชิญชวนให้คนอื่นอยู่ที่บ้านแล้วไม่ติดต่อเจ้าหน้าที่ ก็ขอให้ยกเลิกการกระทำนั้นโดยเด็ดขาดครับ"

หน้ากากอนามัย

อยู่ร่วมกับโรค VS เอาชนะโรค

โครงการที่ใช้ชื่อ...ชนะต่างๆ น่าจะสะท้อนวิธีคิดของภาครัฐได้เป็นอย่างดี ร่วมถึงวิธีรับมือกับโรคระบาดโควิด 19 ด้วย โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์  อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กตัวเองว่า

“เคยเสนอไว้ตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิดแล้วว่า เราไม่ควรที่จะตั้งเป้าที่จะ "เอาชนะโรค" โดยการยอมสูญเสียทุกอย่าง เพียงเพื่อรักษาสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ ยาวนานต่อเนื่องหลายเดือน (ซึ่งวันนี้ คงจะเห็นกันแล้วว่า มันเป็นหายนะ กว่าที่คิด)

“แต่สิ่งที่ควรจะทำ เหมือนกับที่หลายๆ ชาติทั่วโลกเค้าทำ คือการอยู่ร่วมกับโรคระบาด ด้วยหลักนิวนอร์มอล โดยพยายามรักษาระดับของการแพร่กระจายโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขของเรารับมือได้  “(ภาษาวิชาการ เรียกว่า การกดเคิร์ฟของกราฟ ไม่ให้ชันเกินไป) และให้สมดุลกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา ของประเทศ

“ตอนนี้ นโยบายนึงที่น่าเป็นห่วงมากๆ ของไทยเรา ที่ฝืนทำกันมาตลอด คือ การเอา "ผู้ติดเชื้อ ทุกคน" ไปเข้าโรงพยาบาล เพื่อกักกันโรค ตามคอนเซปต์ของการเอาชนะโรค ที่วางไว้แต่แรก

“ซึ่งในต่างประเทศ มักจะไม่ทำกันขนาดนั้น แต่จะให้ผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแม้แต่น้อย (ซึ่งมีถึงครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อทั้งหมด) และผู้ที่ติดเชื้อแต่มีอาการน้อยๆ (ประมาณ 80% ของอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือ) นั้น ลงทะเบียนกักตัวอยู่กับบ้าน กินยาพาราเซตามอล ลดไข้ลดปวดตามอาการ รอจนครบ 14 วันก็หาย

“ปัญหาที่ไทยเราเริ่มเจอ เมื่อเกิดการระบาดมากๆ ก็คือ การที่มีผู้ติดเชื้อ (ทั้งที่ไม่มีอาการ หรือป่วยน้อย) ต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก จนไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ  ตอนนี้ก็ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีก (จริงๆ ก็คือพื้นที่กักกันโรคนั่นแหละ) ซึ่งเดี๋ยวก็เต็มอีก

ศบค. ควรจะทบทวนนโยบายเรื่อง "เอาผู้ติดเชื้อทุกคนไปกักกันในโรงพยาบาล"  ได้แล้วนะ มาจัดระบบการ "กักตัวที่บ้าน" แบบลงทะเบียน มีกฎเกณฑ์การกักตัว มีระบบตรวจสอบ มีค่าตอบแทนให้ด้วย (หรือใครฝ่าฝืน ไม่ทำให้ตามกฏที่สัญญากันไว้ ก็มีค่าปรับหนักๆ เลย แบบในต่างประเทศ)

“เก็บเตียงโรงพยาบาลไว้ให้คนที่ป่วยหนักจริงๆ ดีกว่าครับ (รวมถึงคนที่ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย ที่ตอนนี้โดนเลื่อนนัดกันใหญ่) ...  ขืนปล่อยไว้แบบนั้น ระบบสาธารณสุขของไทยเราจะล่มเอาง่ายๆ นะครับ”

เมื่อไม่เปลี่ยน สุดท้ายก็ถูกสถานการณ์บีบบังคับ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน ได้มีการเผยแพร่เอกสารของกรมการแพทย์ แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) แต่ยังไม่มีการประกาศใช้  

ซึ่งในเมื่อวานนี้  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ แนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ทางโซเชียลมีเดีย  ดังนี้

“เป็นการออกคำแนะนำเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ หากกรณีมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นจะต้องใช้มาตรการดังกล่าว ผู้ที่ติดเชื้อทุกรายจะต้องเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือ โรงพยาบาลสนาม หรือ ฮอสพิเทล ที่ทางภาครัฐกำหนด”

สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายห้ามผู้ป่วยโควิดกักตัวอยู่บ้าน ต้องเปลี่ยนไหม ?

สรุป

แน่นอนว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด 19 แม้จะยังไม่อาการมาก แต่การได้รักษาตัวในโรงพยาบาล ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รวมถึงส่งผลดีในด้านการควบคุมโรค

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือสถานการณ์ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูง รวมถึงการฉีดวัคซีนภายในประเทศ ที่ถือว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างแท้จริง ก็ยังมีอัตราที่ต่ำ ทำให้แนวโน้มการระบาดอาจเนิ่นนานออกไปอีก

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน นโยบายก็ต้องปรับเปลี่ยนตาม  ดีกว่าปล่อยให้ถูกสถานการณ์บีบบังคับ จนเกิดความสูญเสียต่างๆ ตามมามากมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชู Hospitel แก้วิกฤต ! เคลียร์ข้อสงสัย เตียงล็อก ?

เปิดหลักเกณฑ์! สธ.ปรับแนวทาง ผู้ป่วยโควิดไม่รุนแรง กักตัวที่บ้านได้

related