ต้องเปลี่ยน ! ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เสนอ ยุทธศาสตร์ 4 เปลี่ยน สู้วิกฤตโควิด 19 ระบาดระลอกใหม่ ทั้งในเรื่องของการจัดหาวัคซีน การกระจายวัคซีน มาตรการเยียวยา และทัศนคติผู้บริหาร
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เสนอ ยุทธศาสตร์ “4 เปลี่ยน สู้วิกฤตโควิด 19 ระลอกใหม่” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
วันนี้ นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลเปลี่ยนวิธีการจัดหาวัคซีน ไม่กระจุกตัวอยู่แค่เพียงไม่กี่เจ้า อย่างที่เป็นมา การเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนเจ้าอื่นๆ นั้น เป็นเรื่องที่เห็นด้วย แต่โอกาสเป็นไปได้เร็วที่สุดนั้นคือการเข้ามาของวัคซีนต่างๆ ในช่วงไตรมาส 4
ดังนั้น ขอเป็นกำลังใจให้ทีมเจรจา ถ้าทำได้เร็วกว่านี้จะเป็นประโยชน์กับคนไทย เพราะตอนนี้ถือว่าเป็นไปโดยช้ามาก
การฉีดวัคซีนวันนี้ แสดงถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอย่างมาก เพราะฉีดได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น แผนการเตรียมความพร้อมไม่มี ดังนั้น รัฐบาลต้องกลับมาตั้งสมติฐานใหม่ ถ้าบริหารจัดการดีๆ บุคลากรต่างๆ ต้องทำได้ดีกว่านี้
ความพร้อม การประชาสัมพันธ์เรื่องการฉัดวัคซีน กระจายการฉีดวัคซีนต้องทำได้ดีกว่านี้ เชื่อว่า 10 ล้านเข็มต่อเดือน สามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ไม่มีใครชี้แจงว่าทำอย่างไร
ดังนั้น อยากเรียกร้อง ให้รัฐบาลระบุถึงเป้าหมายให้ชัด การฉีดวัคซีนต่อวัน ต่อเดือน เป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้ภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ติดตามอยู่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้
ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ มาตรการทางสังคมกับมาตรการทางเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน ในการระบาดรอบแรก ทั้งสองมาตรการเป็นไปอย่างไม่ได้สัดส่วน ไม่สอดคล้อง เพราะมาตรการสังคมเข้มงวด แต่มาตรการเศรษฐกิจกลับไม่รองรับ
มีแรงงานนอกระบบถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก กระทั่งสถานการณ์ ณ ตอนนี้ เราเข้าสู่ภาวะกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่มีมาตรการเศรษฐกิจรองรับเลย ซึ่งอันตรายมาก เราควบคุมการค้าแต่ไม่มีมาตรการออกมา
ดังนั้น พ.ร.บ เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้เงินที่เหลือ 2.5 แสนล้าน ต้องนำออกมาใช้อย่างรวดเร็วใน 2 เรื่อง ได้แก่
- ป้องกันไม่ให้ลูกจ้างตกงานเพิ่ม โดยรัฐบาลอาจช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือน 50% แลกกับการที่นายจ้างไม่เลิกจ้าง
- เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างถ้วนหน้ารายละ 3,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งโดยสภาวะการคลังยังทำได้
วันนี้ คนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะพาประชาชนไปรอด เพราะยังเป็นระบบเป็นเจ้าขุนมูลนาย ผู้บริหารยังมองว่าประชาชนเป็นภาระ ทั้งที่เมื่อไปดูการแพร่ระบาด การติดเชื้อนั้นมาจากอภิสิทธิ์ชนและการเลือกปฏิบัติตามแบบของระบบเจ้าขุนมูลนายทั้งสิ้น
ดังนั้น ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า ตนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และประชาชนไม่ใช่ภาระ การบริหารจัดการต้องเท่าเทียมกัน ข้อมูลต้องเปิดเผย และมีความจริงจัง จริงใจในการดูแลประชาชน