รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศ "หยุดยิง" ตลอดช่วงเดือนเมษายน ซึ่งจะมีผล "เฉพาะกับกองกำลังชาติพันธุ์" แต่ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง, กองทัพเอกราชกะฉิ่น หรือ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานของเจ้ายอดศึก
รัฐบาลทหารเมียนมา ออกแถลงการณ์ เมื่อวันพุธ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่ากองทัพพร้อมยุติปฏิบัติการทางทหาร ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.นี้ โดยตลอดช่วงเวลาดังกล่าวขอความร่วมมือจากกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม "ร่วมกันรักษาความสงบ" และเพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองเทศกาลสงกรานต์
อย่างไรก็ตาม การหยุดยิงครั้งนี้ ถือว่าไม่มีผลกับ "กิจกรรมทุกรูปแบบที่มีผลต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐ ตลอดจนความราบรื่นในการบริหารกิจการแผ่นดิน"
ขณะที่ ตอนนี้ ยังไม่มีกองกำลังชาติพันธุ์กลุ่มใดออกมาให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อการประกาศ "สงบศึกชั่วคราว" ของกองทัพเมียนมา โดย ก่อนหน้านั้น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ( เคเอ็นยู ) ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์เห่าแก่ที่สุด และมีฐานที่มั่นอยู่ทางตะวันออก , กองทัพเอกราชกะฉิ่น ( เคไอเอ ) ซึ่งมีเขตอิทธิพลอยู่ทางเหนือ กองทัพอาระกัน ( เอเอ ) ซึ่งเป็นกองกำลังชาวพุธในรัฐยะไข่ ที่อยู่ทางตะวันตก และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉานของเจ้ายอดศึก แสดงออกชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในกรุงเนปิดอว์ของกองทัพเมียนมา
ทั้งนี้ สถานการณ์การสู้รบตามแนวชายแดนทางตะวันออกของเมียนมาซึ่งติดกับไทย ยังคงมีความรุนแรงเป็นระยะ โดยกองทัพเมียนมาปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในแถบนี้ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เพื่อตอบโต้ที่เคเอ็นยูบุกโจมตีฐานประจำการแห่งหนึ่งของกองทัพ สังหารทหารอย่างน้อย 10 นาย และควบคุมตัวทหาร 8 นายเป็นตัวประกัน.
ขณะที่ผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำสหประชาชาติ นายจ่อ โม ตุน ได้ส่งจดหมายถึงเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อต้นสัปดาห์โดยเน้นย้ำถึงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลเรือนในประเทศและเรียกร้องให้ "ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ชักช้า"
โดยก่อนหน้านี้ เยอรมนี แนะนำให้พลเมืองของตนออกจากเมียนมาให้เร็วที่สุด , ขณะที่ สหรัฐอเมริกา สั่งให้เจ้าหน้าที่ ออกจากเมียนมา และต้องการตัดความสัมพันธ์ทางการค้าอย่างสิ้นเชิง และปัจจุบัน นับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว อย่างน้อย 520 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
•เปิดไทม์ไลน์วันกองทัพเมียนมา : นองเลือดมากที่สุดสู่การอพยพสู่ฝั่งไทย
•ประท้วงเงียบ : เมียนมาพลิกยุทธวิธีต้านรัฐประหาร หลังเด็ก 7ขวบถูกยิงดับ
•จากจุดเริ่ม"รัฐประหาร"เมียนมา เบนเป้าไปนักลงทุนต่างชาติ : Whats next?