svasdssvasds

ประกันชีวิตปีวัวปรับตัวฝุ่นตลบ!ชูประกันสุขภาพนำเทรนด์-ลดขายเงินออม

ประกันชีวิตปีวัวปรับตัวฝุ่นตลบ!ชูประกันสุขภาพนำเทรนด์-ลดขายเงินออม

พามาส่องดูธุรกิจประกันชีวิตปีวัวที่เขาปรับตัวกันฝุ่นตลบ ! สาเหตุหลักมาจากพิษเศรษฐกิจ โควิด-19 เป็นเหตุสังเกตได้ ทำให้หลายแบรนด์เริ่มปรับสินค้าใหม่ ส่วนใครจะออมเงินการันตีผลตอบแทนปีนี้เห็นที่จะยาก เพราะเขาลดการขาย

หนึ่งในความมั่นคงของชีวิต คือการมีหลักประกันให้ตัวเองที่ดี มีเงินออม สุขภาพที่ดี ไม่เจ็บไม่จน นั้นคือลาบอันประเสริฐที่ทุกคนอยากได้มากกว่าลาบอีสาน ด้วยเหตุนี้ ...ทุกคนถึงต้องหันมาซื้อประกันชีวิตให้กับตัวเองทั้งเงินออม การลงทุน และสุขภาพ เพื่ออนาคตที่ดีให้กับครอบครัว และตัวเอง บางบริษัทก็มีประกันให้พนักงานด้วยก็ถือว่ามีความรักและห่วงพนักงาน

ทำให้หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจประกันภัยเติบโตงดงามสยามประเทศ แต่ก็อาจสะดุดตอในช่วงที่โควิด-19 ระบาด ล่าสุดได้รับการเปิดเผยจากนายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตใน ปี 2563 เติบโตอยู่ในช่วงชะลอตัว หลักๆ มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลงานภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตระหว่าง มกราคม - ธันวาคม 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 600,206.48 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรวมต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 8,701.16 บาท

ในขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยรับรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.82 แบ่งผลงานเบี้ยประกันภัยเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 158,238.69 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 11.34 ซึ่งประกอบด้วย เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 101,771.12 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 6.41 และเบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว 56,467.57 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 19.04  และแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 441,996.78 ล้านบาท ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82

ประกันชีวิตปีวัวปรับตัวฝุ่นตลบ!ชูประกันสุขภาพนำเทรนด์-ลดขายเงินออม

ทั้งนี้เมื่อเทียบอัตราการเติบโตของจีดีพีของประเทศพบว่า ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตสูงกว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีที่เติบโตลดลงร้อยละ 6 ส่วนหนึ่งมาจาก นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ได้ผ่อนคลายระเบียบ และ กฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาคธุรกิจจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เช่น การเสนอขายแบบ Digital Face to Face ที่อำนวยความสะดวกและปรับกระบวนการขายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และ การอนุโลมการอบรมต่ออายุใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตและนายหน้าประกันชีวิต เป็นต้น

ประกันชีวิตปีวัวปรับตัวฝุ่นตลบ!ชูประกันสุขภาพนำเทรนด์-ลดขายเงินออม
นอกจากนี้ยังมาจากการที่คนไทยตระหนักและหันมาใส่ใจวางแผนเรื่องสุขภาพมากขึ้น อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันชีวิตประเภทสัญญาเพิ่มเติมการประกันโรคร้ายแรง เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.10 และ ร้อยละ 13.59 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2562

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายในธุรกิจประกันชีวิตพบว่า ช่องทางตัวแทนประกันชีวิต ยังคงเป็นช่องทางการขายที่มีสัดส่วนการขายเทียบรวมทุกช่องทางทั้งหมด โดยช่องทางตัวแทนประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 320,348.61 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 53.37 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 1.42 รองลงมาคือช่องทางการขายประกันภัยผ่านธนาคารมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 231,569.28 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.58 แต่มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 5.83 ในขณะที่ช่องทางอื่นๆ เช่น ช่องทางโทรศัพท์ ช่องทางดิจิทัล และ ช่องทางไปรษณีย์ มีอัตราส่วนต่อเบี้ยประกันภัยรับรวมเพียงร้อยละ 8.05

ประกันชีวิตปีวัวปรับตัวฝุ่นตลบ!ชูประกันสุขภาพนำเทรนด์-ลดขายเงินออม

อย่างไรก็ตามสำหรับปี 2564 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายรอบด้าน อาทิ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ภาวะการว่างงาน หนี้สินภาคครัวเรือน สังคมสูงอายุ มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ IFRS 17 พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล การฉ้อฉลในธุรกิจ โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance  Bureau System) และการจัดทำกรมธรรม์ประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่

ทั้งนี้สมาคมประกันชีวิตไทยจึงคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตประจำปี 2564 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ระหว่าง 590,000 – 610,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตร้อยละ – 1 ถึง +1 และมีอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 81 - 82 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 – 3.5 ประกอบกับเรื่องการเข้าถึงวัคซีนของประเทศไทยที่คาดว่าจะมาถึงประเทศไทยและจะเริ่มฉีดให้กับประชาชนได้ในในปี 2564 นี้ รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางเศรษฐกิจจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ

สำหรับแนวโน้มด้านผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตและช่องทางการขายในปี 2564 แต่ละบริษัทประกันชีวิตได้ ทยอยปรับลดการขายผลิตภัณฑ์ประเภทออมทรัพย์ที่มีการันตีผลตอบแทน เนื่องจากสถานการณ์ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และหันมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์แบบประกันชีวิตควบการลงทุน Universal Life, Unit Linked, Participating policy ที่เน้นการลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ รวมถึงหันมาเน้นการขายผลิตภัณฑ์แบบประกันที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว เช่น แบบประกันตลอดชีพ (Whole Life) แบบประกันบำนาญที่ช่วยวางแผนเรื่องเกษียณ (Annuity) เป็นต้น และหันมาเน้นมาการขายแบบประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงมากขึ้น

 

ในขณะเดียวกันยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาช่องทางการขายให้มีความหลากหลายตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางการขายทางดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ และพัฒนารูปแบบการให้บริการให้มีความทันสมัย สะดวกสบาย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น

related