รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร วิเคราะห์ 3 ปัจจัยนำไปสู่จุดแตกหัก กองทัพยึดอำนาจอองซานซูจี แล้วสถานการณ์ตรงนี้ จะส่งผลให้เมียนมาต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หรือย้อนกลับไปสู่ยุคเผด็จการทหาร จนถึงขั้นปิดประเทศ อีกหรือไม่ ?
สปริง สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ในภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากกรณีกองทัพเมียนมา ยึดอำนาจ ควบคุมตัวอองซานซูจี ปิดฉากบรรยากาศประชาธิปไตย ที่ดำเนินมากว่า 4 ปี โดย รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ถึงจุดแตกหัก ที่นำไปสู่การยึดอำนาจ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักๆ ดังต่อไปนี้
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด พรรคเอ็นแอลดี ของอองซานซูจี จะชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ก็เกิดการกระทบกรทั่งระหว่างนักการเมืองกับกองทัพหลายครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จากการปกครองแบบเผด็จการทหาร สู่ประชาธิปไตย ที่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น
“หลังการเลือกตั้ง พรรคเอ็นแอลดี ของอองซานซูจี ชนะอย่างท่วมท้น แต่ก็ยังประสบปัญหาการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เศรษฐกิจ และการต่างประเทศ ที่ไม่ราบรื่น
“โดยรัฐธรรมนูญของเมียนมา ยังไม่สามารถรองรับการพัฒนาประชาธิปไตยได้ ทหารยังคงบทบาทสำคัญ มีที่นั่งในสภา แล้วทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันบ่อยครั้งระหว่างกลุ่มของอองซานซูจี กับกองทัพ ซึ่งปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน
“ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงัก และไม่ทันเวลาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สถานการณ์จึงบานปลาย
“ที่ผ่านมา พรรคเอ็นแอลดี ได้ส่งคนไปบริหารหลายกระทรวงร่วมกับทหาร แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ทหารกับพรรคเอ็นแอลดี กระทบกระทั่งกันเป็นประจำ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคด้วย ทำให้การบริหารราชการติดขัด นำมาสู่ความชะงักงันด้านเศรษฐกิจ”
ส่วนปัจจัยต่อมา รศ.ดร.ปณิธาน วิเคราะห์ว่า จากท่าทีคลุมเครือของอองซานซูจีต่อการเสียชีวิตของชาวโรฮีนจาจำนวนมาก ในรัฐยะไข่ ที่ถูกโจมตีจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ชื่อของเธอเสื่อมมนตร์ขลังด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลก ดังนั้นหากมีการยึดอำนาจ กองทัพจึงประเมินว่า กระแสต่อต้านจากภายนอก อาจไม่สูงนัก
“ที่ผ่านมามีสถานการณ์ซ้ำเติมพรรคเอ็นแอลดีอยู่หลายเรื่อง อย่างกรณีโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับอองซานซูจีในเวทีโลก ร่วมถึงในระดับพื้นที่
“รัฐยะไข่ มีชาวโรฮีนจาเสียชีวิตไปจำนวนมาก แต่ว่าอองซานซูจีกลับมีท่าทีที่คลุมเครือ ไม่ปกป้องชาวโรฮีนจา เพราะไม่ต้องการเสียคะแนนนิยมจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่
“ทำให้นานาชาตินประณามอองซานซูจี จนถึงขึ้นมีการเสนอให้ถอดถอนออกจากรางวัลที่ได้รับมากมาย รวมทั้งรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การสนับสนุนอองซานซูจีในระดับนานาประเทศ ได้ผันแปรไปแล้ว”
ปัจจัยสุดท้าย ก็คือผลการเลือกตั้งเมียนมาในครั้งล่าสุด ที่คาดว่า พรรคของอองซานซูจีจะได้รับคะแนนลดลง แต่กลับชนะอย่างถล่มทลาย จนสร้างความกังขาให้กับกองทัพ และใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจ โดยกล่าวหาว่า มีการโกงเลือกตั้ง
“การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 2 นับจากเปิดประเทศ) ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องของบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
“ก่อนการเลือกตั้งเมียนมาครั้งล่าสุด คาดกันว่า คะแนนนิยมของอองซานซูจีจะลดลงเยอะ แต่ผลออกมาว่าพรรคเอ็นแอลดีได้รับเลือกตั้งสูงถึง 83 % ส่วนพรรคที่กองทัพสนับสนุน ได้ไม่กี่ที่นั่ง
“จึงทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นในหมู่ทหารว่า มีการโกงเลือกตั้งหรือไม่ โดยหยิบยกประเด็นรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ครบ มากล่าวหา
“ซึ่งเรื่องนี้ กกต.ของเมียนมาก็ยอมรับว่า เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นจริง เนื่องจากมีชนกลุ่มน้อยหลากหลายและจำนวนมาก การจัดทำบัญชีรายชื่ออาจจะไม่รัดกุม ทำให้ทหารกดดันให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อใหม่ แต่ กกต.เมียนมา ปฏิเสธ
“แล้วกองทัพก็ต้องการให้เลื่อนการประชุมรัฐสภาออกไป แต่พรรคเอ็นแอลดี ก็ปฏิเสธเช่นกัน ก่อนหน้านั้นก็มีการเจรจาหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลว ทำให้เกิดการควบคุมตัวอองซานซูจี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั่วประเทศ”
ทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ว่า ส่งผลให้สถานภาพของอองซานซูจี และพรรคเอ็นแอลดี สั่นคลอน ทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ จนนำไปสู่การยึดอำนาจในที่สุด
ส่วนการตอบโต้การยึดอำนาจของเมียนมา จากนานาประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ รศ.ดร.ปณิธาน ได้วิเคราะห์ดังนี้
“นานาชาติไม่ได้สนับสนุนอองซานซูจีอย่างชัดเจน เหมือนแต่ก่อน เนื่องจากความสัมพันธ์ระยะหลังไม่ค่อยดี แต่วันนี้สถานการณ์อาจเปลี่ยนไป เพราะหลังจากกองทัพยึดอำนาจ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้แถลงว่า จะมีมาตรการต่างๆ ออกมาตอบโต้
“ผมเข้าใจว่า สถานการณ์ตรงนี้ท้าทายสหรัฐฯ ให้ต้องโต้ตอบอะไรบางอย่าง ต้องมีบทบาทบางอย่าง สหรัฐไม่อาจนิ่งเฉยได้ เพราะถ้าเมียนมากลับไปเป็นประเทศเผด็จการทหาร ก็จะสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบใหญ่ของจีน ที่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ
“แต่คิดว่าสหรัฐฯ คงไม่เดินตามลำพัง อาจใช้เวลา 1 -2 วัน เพื่อล็อบบี้ประเทศต่างๆ แล้วมีแถลงการณ์ร่วมกับสหภาพยุโรป ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชีย รวมทั้งออสเตรเลีย ที่จะออกมาตอบโต้พร้อมๆ กัน”
“ในขณะเดียวกันกองทัพเมียนมา ก็มีความระมัดระวัง จึงยังไม่ประกาศชัดเจนในรายละเอียดทั้งหมด แต่ในภาพรวมก็อาจเป็นไปได้ว่า กองทัพพยายามจะลดแรงกดดันจากนานาประเทศ ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ นี้ หรือภายใน 1 ปี แต่จะจริงหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันต่อไป”
ส่วนผลกระทบกับไทย ที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา รวมถึงท่าทีที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น รศ.ดร.ปณิธาน ได้กล่าวว่า
“สำหรับประเทศไทย ก็อาจต้องเตรียมควบคุมการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ (ของเมียนมาในไทย) ที่อาจจะส่งผลให้เกิดความผันแปรตามชายแดน รวมถึงเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ของเมียนมา ที่จะทะลักเข้ามาในไทย
“และต้องประเมินว่า อาเซียนมีท่าทีอย่างไร แต่คงไม่มีท่าทีที่เข้มข้น หรือต่อต้านชัดเจน เพราะอาเซียนก็มีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก
“ส่วนไทยก็ต้องรักษาทีท่าไว้ให้ดี ให้เป็นท่าทีที่สมดุล แล้วโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันหาทางออก เพื่อคลี่คลายสถานการณ์”
อีกประเด็นที่ถูกจับตาเป็นอย่างมาก ก็คือการยึดอำนาจครั้งนี้ จะส่งผลให้เมียนมากลับไปเป็นประเทศที่ปกครองในรูปแบบเผด็จการทหารเข้มข้น จนถึงขั้นปิดประเทศอย่างในอดีตหรือไม่นั้น รศ.ดร.ปณิธาน ได้แสดงความคิดเห็นว่า ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของชาวเมียนมา เป็นสำคัญ
“ผมคิดว่าจะต้องดูปฏิกิริยาของประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยแล้ว การกลับไปปิดประเทศอีกในรูปแบบเดิม อาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น แต่ถ้าทางฝ่ายทหารมีข้อเสนอในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แล้วประชาชนตอบรับ ก็อาจทำให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้นได้
“แต่ถ้าทางฝ่ายทหารมองว่า เขาไม่สามารถที่กลับไปมีอำนาจแบบเดิมได้ (ช่วงปิดประเทศ) ก็อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายในกรอบเวลา 1 ปี นั่นก็หมายความว่า พม่าจะไม่กลับไปเป็นเผด็จการแบบปิด แต่ว่าจะเข้ามาสู่กระบวนการประชาธิปไตย แบบเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน (ช่วงเปิดประเทศ และให้มีการเลือกตั้ง)
“โดยสรุปก็คือ ยากที่เมียนมาจะกลับไปปิดประเทศ ที่ไม่มีการเปิดกว้างทางการเมือง แต่ที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก จึงเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถอยกลับไปตั้งหลัก แต่ก็ไม่ถึงขั้นปิดประเทศทั้งหมด
“และผมคิดว่าในอนาคต การเติบใหญ่ของแนวคิดเสรีนิยม คนเมียนมาที่อายุไม่มาก แล้วเห็นว่าระบบเปิดของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทย ก็จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้เมียนมาไม่สามารถถอยหลังกลับไปไกลกว่านี้ได้มากนัก”