กองทัพเมียนมารัฐประหาร จับกุมหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี อองซาน ซูจี และแกนนำ เปิดประวัติผู้นำเมียนมา
กองทัพพม่า รัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลประธานาธิบดีอู วิน มินต์ เข้ารวบตัว ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และแกนนำพรรคหลายราย
ออง ซาน ซูจี นักการเมืองเมียนมา เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2488 (ปัจจุบันอายุ 75 ปี) ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่าในระหว่างที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีบิดาคือ นายพลอองซาน ที่ญี่ปุ่นให้การสนับสนุน และทำให้ญี่ปุ่นยึดพม่าได้สำเร็จในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมา นายพลอองซาน ถูกลอบสังหาร ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 ขณะนั้นออง ซาน มีอายุได้ 2 ขวบ และทำให้เครือข่ายอำนาจจากนายพลอองซาน ช่วยเลี้ยงดูต่อ
ออง ซาน ซูจี ได้จบชั้นมัธยมศึกษาและปริญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จาก วิทยาสตรีศรีราม ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จากการติดตามมารดาที่ไปเป็นทูตพม่า ประจำอินเดีย และไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัญญา จากเซนต์ ฮิวส์ คอลเลจ (St Hugh's College) ออกซฟอร์ด สหราชอาณาจักร หลังจากนั้น ได้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ
ออง ซาน ซูจีได้พบรักกับ ไมเคิล อริส และมีลูกชายด้วยกัน 2 คน ทำให้ออง ซาน และครอบครัว ย้ายไปอยู่ที่ราชอาณาจักรภูฏาน และทำงานในกระทรวงการต่างประเทศ ของรัฐบาลภูฏาน ซึ่งในภายหลังครอบครัวอองซาน ได้ย้ายกลับไปอังกฤษ ทำให้ได้เรียนต่อที่ SOAS (School of Oriental and African Studies) มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และทำตามความฝันของผู้เป็นบิดา
ออง ซาน ซูจี เดินทางกลับประเทศใน พ.ศ.2531 ด้วยวัย 43 ปี ซึ่งขณะนั้นการเมืองกำลังวุ่นวายจากการกดดันให้ นายพลเนวิน ประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ปกครองประเทศยาวนานถึง 26 ปี ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งสำเร็จในที่สุด และเรียกร้องให้ประชาธิปไตย พร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย
ออง ซาน ซูจี ได้เข้าร่วมการประท้วงมาโดยตลอด และขึ้นกล่าวปราศรัยครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2531 ณ หน้าเจดีย์ชเวดากอง ทว่าผู้นำทหารกลับประกาศกฎอัยการศึก พร้อมจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ได้ปราบผู้ร่วมชุมนุมหลายร้อยคน
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2531 โดยมีออง ซาน ซูจี เป็นเลขาธิการพรรค
รัฐบาลภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณออง ซาน ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 ปี
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2534 คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ ออง ซาน ซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทว่าลูกทั้งสองกลับต้องไปรับรางวัลแทน เนื่องจากมารดายังคงถูกสั่งกักตัวจากรัฐบาลพม่า และถูกปล่อยตัวเมื่อ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2538
เมื่อได้รับอิสรภาพ ออง ซาน ซูจี ไม่รอช้าที่จะเข้าร่วมการชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการทันที ด้วยการปราศรัยปลุกระดมมวลชนที่สนับสนุนให้ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาล จึงเป็นเหตุให้ถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่สอง นาน 18 เดือน
หลังจากที่พ้นคำสั่งกักตัว ออง ซาน ซูจี ก็เดินสายพบปะประชาชน ทำให้เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนผู้ไม่ชื่นชอบกับกลุ่มผู้สนับสนุนออง ซาน ในเมืองเดพายิน (Depayin) ทางตอนเหนือของพม่า เป็นเหตุให้ถูกสั่งกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2546 และถูกปล่อยตัวในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.553 รวมระยะเวลานาน 7 ปี ด้วยแรงกดดันจากนานาประเทศ
ซึ่งระหว่างที่ ออง ซาน ซูจี กักบริเวณรอบที่ 3 ก็มีเหตุการณ์ จอห์น ยัตทอว์ ชายชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบอินยาไปยังบ้านพักของออง ซาน ซูจี ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2552