วันนี้เป็นอีก 1 วัน ที่ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในกทม . และอีกหลายพื้นที่มีค่าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทำให้ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต้องระมัดระวัง และดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษ เพราะอาจจะทำให้โรคของท่านกำเริบ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงได้ วันนี้จะพาไปรู้จักกับ1 นวัตกรรมที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับช่วงนี้มาก ๆ ของจากสถาบันนวัตกรรมปตท.
โดยนวัตกรรมที่ว่านี้ คือน้องพิม (Nong Pim) หรือเจ้าเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งช่วงนี้ฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาอีกแล้ว ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งที่จะติดตั้งเครื่องนี้ไว้ที่อาคารสำนักงานต่าง ๆ จะพาไปคุยกับ2นักวิจัยที่ผลิตและคิดค้นเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 คุณโก้ เกียรติสกุล วัชรินทร์ยานนท์ และคุณอาม ศิระ นิธิยานนทกิจ 2นักวิจัยจากสถาบันนวัตกรรม ปตท. ว่าเครื่องนี้มีที่มาที่ไป และดีอย่างไร ?
คุณโก้ เล่าให้ฟังว่า ชื่อน้องพิมมาจากชื่อลูกสาวของเขาเองจึงอยากให้น้องพิม เป็นตัวแทนของความห่วงใยและคอยแจ้งเตือนปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ให้กับผู้คน อีกทั้งก่อนหน้านั้นเราใช้ รปภ.ของบริษัทเข้าไปวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งการที่รปภ.เราเข้าไปวัดค่าตามจุดต่าง ๆนั้นก็ส่งผลเสียต่อตัว รปภ.เองที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นละอองโดยตรง
ส่วนคุณอาม เล่าว่าในปัจจุบันตามท้องตลาดมีเครื่องวัดค่าฝุ่นวางขายกันอยู่แล้ว หรือไม่ก็ติดมากับเครื่องฟอกอากาศ แต่ทั้งสองแบบนั้นเราต้องนำตัวเองเข้าไปวัน หรือไม่ก็ต้องต่อสัญญาณ WIFI เราถึงจะทราบผลได้ จากจุดนี้เราจึงอยากพัฒนาต่อยอดจากเดิม โดยการนำเทคโนโลยีโครงข่าย NB IOT หรือ Narrowband Internet of Things เป็นการส่งผ่านข้อมูลที่สะดวก ประหยัด และทำให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลก่อนที่จะถึงพื้นที่นั้น ๆ ตัว NB-IOT นั้นจะทำงานคล้ายๆ E-Simนั้นเอง
คุณอาม เล่าต่อไปว่า น้องพิมจะทำงานคล้ายกับเครื่องวัดทั่วไป โดยกลไกการวัดนั้นน้องพิมจะปล่อยแสงเลเซอร์เพื่อให้สะท้อนกับฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศ เหมือนเราส่องไฟฉายตอนกลางคืนแล้วเราจะเห็นเม็ดฝุ่นลอยผ่านไปมา แต่ด้วยเทคโนโลยี LASER SCATTERING ที่น้องพิมใช้จะสามารถตรวจวัดฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กได้ดีและแม่นยำมากขึ้น แต่ที่แตกต่าง
ที่สำคัญที่สุดคือ น้องพิมเองมีเทคโนโลยีโครงข่าย NB-IOT ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากน้องพิมได้ตลอดเวลา เพราะน้องพิมจะตรวจวัด และส่งข้อมูลกลับมาที่ฐานข้อมูล ทุก ๆ 10 นาที ซึ่งตรงนี้สามารถตั้งค่าให้น้องพิมได้ว่าจะให้วัดค่าฝุ่นละอองบ่อยมากน้อยแค่ไหน หลังจากน้องพิมส่งข้อมูลกลับมาที่ฐานข้อมูลแล้วก็สามารถอ่านข้อมูล และส่งข้อมูลไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งในปัจจุบัน นักวิจัยได้ส่งข้อมูลไปยังไลน์กลุ่มของบริษัทเพื่อแจ้งพนักงานก่อนจะมาถึงบริษัทเพื่อเตรียมตัว หรือหลีกเลี่ยงที่จะไปพื้นที่นั้น ๆ
ประเด็นนี้ คุณอาม บอกว่า หลักๆเลยการเลือกหาตัวเซนเซอร์ที่เหมาะสมเนื่องจากเราต้องการให้น้องพิมมีความแม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และที่สำคัญต้องใช้พลังงานที่ไม่สูงเกินไป เพื่อง่ายต่อการติดตั้ง นอกจากนั้น คงจะเป็นในส่วนของการแสดงข้อมูล ที่เราต้องพัฒนารูปแบบให้ตรงตามโจทย์ที่กลุ่มลูกค้าต้องการ เข้าใจง่าย และรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วทันต่อการใช้งาน
ประเด็นนี้ คุณโก้ บอกว่า สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คืออยากให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อม การที่น้องพิมได้ถูกติดตั้งตามที่ต่าง ๆ ก็เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลบริเวณนั้น ๆ ว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยในการทำเกษตรกรรมแบบดั่งเดิม การใช้พาหนะ การก่อสร้าง การที่มีน้องพิมอยู่ก็จะทำให้เรามองหาสาเหตุในการเกิดมลพิษบริเวณนั้น ๆ ได้ และนำไปสู่กระบวนการแก้ไขต่อไป
คุณโก้ กล่าวต่อไปว่า เราเริ่มโปรเจคนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นปัญหาฝุ่น PM 2.5 กำลังสร้างความเสียหายกับผู้คนเป็นอย่างมาก เราเริ่มนำร่องติดตั้งน้องพิมในสถาบันนวัตกรรม ปตท.ที่วังน้อย และต่อยอดจนมาถึง กลุ่มบริษัท ปตท. ปัจจุบัน มีมากกว่า 100 เครื่องที่คอยรายงานสถาพแวดล้อมบริเวณสำนักงานต่าง ๆ โดยส่งข้อมูลเข้าไปในไลน์กลุ่มของบริษัท และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้ เราพร้อมที่จะให้บริการกับบริษัทต่าง ๆแล้ว ถ้าบริษัทไหนต้องการก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ นอกจากนั้น เราได้เตรียมระบบการส่งผ่านข้อมูล สามารถนำไปพัฒนาในการรายงานข้อมูลปริมาณฝุ่นที่อยู่บริเวณสำนักงาน ห้างร้าน ผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัทของลูกค้าเองได้
ด้านคุณอาม กล่าวเสริมว่า การติดตั้งหรือการใช้งานจะผ่านบริษัทกับบริษัทเป็นหลักแต่ในอนาคตเราจะพัฒนาให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้โดยตรงเพิ่มขึ้น ยังไงก็รอติดตามได้เลยครับ
คุณอาม บอกว่า อยากให้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย เพราะเราอาจจะมองว่าอาชีพนักวิจัยนั้นต้องเป็นอะไรที่ดูเคร่งเครียด แต่จริง ๆ แล้วงานวิจัย คือกระบวนการจัดระเบียบความคิด ในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตหรือสร้างสรรค์นวัตกรรม มันรวมถึงการทำธุรกิจ หรือทำสิ่งอื่น ๆในชีวิตด้วย การที่เราทราบถึงวัตถุประสงค์ ทราบถึงปัญหา ค้นหาวิธีการ หลักการเหล่านี้ เราควรนำมาปรับใช้ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ และความสำเร็จที่เราต้องการ
ส่วนคุณโก้ ฝากไว้ว่า บางคนอยากจะผลิตชิ้นงานออกมาเพื่อที่จะทำธุรกิจ เพื่อให้ได้กำไร ได้เงินเยอะๆ อยากให้มองว่า ความสำคัญของงานวิจัย ไม่ได้อยู่ที่ตัวเงินที่เราจะได้รับ หรือจะขายงานชิ้นนั้น ๆ ได้เท่าไร แต่อยากให้มองถึงประโยชน์ที่ผู้คนจะได้รับจากผลงานการวิจัยของเราเพราะผมเชื่อว่าถ้างานวิจัยของเรามีประโยชน์ ตอบสนองผู้คนได้ และผู้คนเชื่อว่าผลงานของเราดีจริง ๆ ผลตอบแทนที่เราได้ก็จะตามมาเอง
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการพัฒนาน้องพิมเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยฝีมือนักวิจัยไทย สุดท้ายนี้ถ้าเจ้านายของผู้อ่านท่านไหนสนใจอยากจะได้น้องพิมมาติดไว้ที่บริษัท สามารถติดต่อได้ที่ คุณวิชย์กรณ์ เจียมอ่อน โทร. 0 35-24 8-385