เปิดประวัติบ้านพิษณุโลก บ้านพักอย่างเป็นทางการสำหรับนายกฯ แต่ส่วนใหญ่ ไม่ใช้เป็นบ้านพัก รวมถึงบิ๊กตู่
บ้านพิษณุโลก คือบ้านพักรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับนายกรัฐมนตรีไทย แต่ที่ผ่านมา มีนายกฯ น้อยราย ที่จะพักอาศัยในบ้านหลังนี้อย่างเป็นกิจลักษณะ ระหว่างดำรงตำแหน่ง
หรืออย่างล่าสุดที่กำลังเป็นคดีความ และกำหนดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคม นี้ ก็คือกรณีที่บิ๊กตู่ นายกฯ คนปัจจุบัน ที่ยังคงอยู่ในบ้านพักทหาร ทั้งๆ ที่เกษียณจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แล้ว ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมท่านไม่มาพักที่บ้านพิษณุโลก ที่ทางการจัดเตรียมให้เป็นบ้านพักสำหรับนายกฯ ระหว่างดำรงตำแหน่ง
บ้านพิษณุโลก หรือชื่อเดิมคือ บ้านบรรทมสินธุ์ เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรือนรับรองแขกสำคัญของรัฐบาลไทย เป็นบ้านแบบสถาปัตยกรรมกอทิกเวเนเทียน ออกแบบและสร้างโดยมาริโอ ตามานโญ สถาปนิกชาวอิตาลี มีเนื้อที่ 25 ไร่ 3 งาน ตั้งอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล
ใน พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างบ้านบรรทมสินธุ์ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
เมื่อสร้างเสร็จ พระองค์พระราชทานบ้านบรรทมสินธุ์ให้กับพระยาอนิรุทธเทวา อธิบดีกรมมหาดเล็ก และผู้บัญชาการกรมมหรสพซึ่งเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตระกูลอนิรุทธเทวาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ พระยาอนิรุทธเทวาจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อให้เป็นราชสมบัติเนื่องจากเกินกำลังที่จะบำรุงรักษาได้แต่ได้รับการปฏิเสธ พระยาอนิรุทธเทวาและครอบครัวได้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดนนทบุรี และไม่ได้มีการใช้งานบ้านบรรทมสินธุ์แต่อย่างใด
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คณะรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ใช้บ้านบ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่รับรองนายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในการร่วมรบกับญี่ปุ่น
และได้ติดต่อพระยาอนิรุทธเทวาเพื่อขอซื้อหรือเช่าบ้านบรรทมสินธุ์เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นซื้อไปเป็นสถานทูต เนื่องจากบ้านนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันทหารราบที่ 3 ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
พระยาอนิรุทธเทวาได้ตกลงแบ่งขายที่ดินและตึกจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสนบาทเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2485 รัฐบาลได้ใช้บ้านบรรทมสินธุ์เป็นที่ทำการของ "กรมประสานงานไทย-ญี่ปุ่น" สำหรับการประสานงานระหว่างสองประเทศและเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านไทย-พันธมิตร"
แต่แล้วบ้านหลังดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนชื่ออีก หลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม จาก “บ้านไทย-พันธมิตร” ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" เพื่อลบภาพพจน์ในการเข้าร่วมสงคราม
ใน พ.ศ. 2496 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ในขณะนั้น ก็ได้เปลี่ยนชื่อบ้านหลังดังกล่าวเป็น "บ้านพิษณุโลก" เนื่องจากตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก นั่นเอง
บ้านพิษณุโลก ได้รับการปรับปรุง เพื่อใช้เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ. 2522 และมาแล้วเสร็จในปี 2524 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
แต่ พล.อ.เปรม ได้ย้ายเข้าไปพักและอยู่เพียง 2 วัน ก็ย้ายออกไปพักที่บ้านพักเดิม (บ้านสี่เสาเทเวศร์) ต่อมาในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการใช้บ้านหลังนี้เป็นที่ทำการของคณะที่ปรึกษานายกฯ
และหลังจากนั้น มีเพียง นายชวน หลีกภัย ที่เข้าพักบ้านพิษณุโลกอย่างเป็นทางการ ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากบ้านพักในซอยหมอเหล็งของนายชวนนั้นคับแคบ
โดยได้ใช้โซฟาในห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านหน้าห้องนอนเป็นที่นอน และไม่ได้มีการใช้เตียงนอนภายในห้องนอนของบ้านแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นให้เกียรติเจ้าของบ้านเดิม
และหลังจากนายชวน ก็ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พำนักจนถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่ใช้เป็นที่ประชุมและรับแขกเท่านั้น
บ้านพิษณุโลกมีกิตติศัพท์ร่ำลือในแง่ความลี้ลับ หรือถ้าพูดตรงๆ ก็คือ ผีดุ แต่ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ทายาทของพระยาอนิรุทธเทวา ซึ่งเคยพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้เมื่อสมัยเด็กได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับผีดุระหว่างที่พักอาศัย
ตนอยู่มาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม กระทั่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซื้อบ้านหลังนี้ไป แต่กิตติศัพท์เรื่องผีดุนี้ก็ได้รับการตอกย้ำ จนแทบไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดย้ายเข้าไปพักที่บ้านหลังนี้ อย่างเป็นทางการ
ที่มา wikipedia