ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า "รางวัลโนเบล" (Nobel Prize) แต่วันนี้เราจะเจาะลึกให้รู้จักกันมากยิ่งขึ้นกับ "อัลเฟรด โนเบล" จากพ่อค้าแห่งความตายสู่รางวัลสันติภาพ
รางวัลโนเบล Nobel Prize เป็นรางวัลประจำปีระดับนานาชาติ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสแกนดิเนเวีย โดยพิจารณาจากผลการวิจัยหรือความเชี่ยวชาญต่างๆ ที่สร้างสรรค์คุณงามความดีให้กับมวลมนุษยชาติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 6 สาขาด้วยกัน ได้แก่ เคมี , ฟิสิกส์ , การแพทย์ , วรรณกรรม , สันติภาพ และ เศรษฐศาสตร์ เพื่อให้เป็นไปตามเจตจำนงค์ของนักเคมีชาวสวีเดน "อัลเฟรด โนเบล" (Alfred Nobel)
โดยเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2438 (ค.ศ.1895) และมอบรางวัลครั้งแรกในปี พ.ศ.2444 (ค.ศ.1901) เพียง 5 สาขาเท่านั้น โดยเพิ่มสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) ซึ่งการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจัดขึ้นที่กรุงออสโล เมืองหลวงประเทศนอร์เวย์ ส่วนสาขาอื่นๆ จัดที่สต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในสาขาวิชาชีพนั้นๆ
อัลเฟรด เบิร์นฮาร์ด โนเบล (Alfred Burnhard Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ที่ได้รับฉายา "พ่อค้าแห่งความตาย" จากการเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตอาวุธ ภายใต้ชื่อ บริษัท โบโฟรส์ (Bofors) นอกจากนี้ยังเป็นผู้คิดค้นดินระเบิด "ไดนาไมท์ - Dynamite"
อัลเฟรด โนเบล เป็นบุตรคนที่ 3 จาก 8 คนของ "อิมมานูเอล โนเบล" และ "แคโรริน่า แอนเดรีย โนเบล" ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก "โอลาอุส รุทเบค" (Olaus Rudbeck) นักวิทยาศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17
โนเบล เกิดเมื่อวันที่ 21 ต.ค. พ.ศ.2376 (ค.ศ.1833) ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก่อนที่จะไปอยู่ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ.2385 (ค.ศ.1842) ต่อมาได้ย้ายไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) และได้พบกับ "แอสคานิโอ โซเบรโร" (Ascanio Sobrero) ผู้คิดค้นสารไนโตรกลีเซอริน ได้ 3 ปีก่อนหน้านี้ ทว่า โซเบรโร คัดค้านการนำไนโตรกลีเซอรินมาใช้ เนื่องจากสารเป็นของเหลวที่มีความเปราะบางและมีพลานุภาพทำลายล้างสูง เพียงแค่เกิดการกระทบกัน หรือโดนความร้อนก็ทำให้ระเบิดได้แล้ว
แต่ โนเบล กลับมองว่าเป็นความท้าทายที่จะนำไนโตรกลีเซอรินมาใช้ แม้จะเกิดการระเบิดอยู่หลายครั้ง แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือครั้งที่ทำให้โนเบลสูญเสียน้องชายไป "เอมิล ออสการ์ โนเบล" (Emil Oskar Nobel) ทำให้ โนเบล มุ่งมั่นคิดค้นการที่จะใช้ไนโตรกลีเซอรินให้ปลอดภัย ร่วมถึงความปลอดภัยในระหว่างการขนส่ง
ด้วยเหตุบังเอิญ ที่โนเบล ทำไนโตรกลีเซอรินหล่นลงบนดินทรายแต่กลับไม่เกิดการระเบิด ทำให้โนเบลนำดินทรายดังกล่าวมาศึกษา ทำให้พบการสารซึมซับความเฉื่อย อย่าง "ผงไดอะตอมมาเชียส" (Diatomaceous Earth) เป็นเหมือนชนวนที่ทำให้ไนโตรกลีเซอรินไม่เกิดการระเบิด และทำการค้นคว้าออกมาเป็นดินระเบิดไดนาไมท์ในท้ายที่สุด พร้อมจดสิทธิบัตรในปี พ.ศ.2410 (ค.ศ.1867) ด้วยวัย 34 ปี
หลังจากนั้นโนเบลยังได้คิดค้นสารระเบิดและอาวุธยุทโธปกรณ์จำพวก ปืนใหญ่ อีกมากมาย และผลิตผ่านบริษัท โบโฟรส์
จวบจนถึง โนเบล ในบั้นปลายชีวิต ที่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่า การเสียชีวิตของพี่ชายนามว่า "ลุดวิค โนเบล" (Ludvig Nobel) เป็นการเสียชีวิตของตัวเขาเอง และพาดหัวข่าว "Le Marchand De La Mort Est Mort" ที่แปลได้ว่า "พ่อค้าแห่งความตายเสียชีวิต" และเนื้อข่าวที่ว่าโนเบลมีฐานะที่ร่ำรวยจากการขายอาวุธที่คร่าชีวิตผู้คน
ในปี พ.ศ.2438 (ค.ศ.1895) วันที่ 27 พ.ย. โนเบลได้ลงนามในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายของเขาพร้อมคำสัญญายกที่ดินและทรัพย์สินจำนวนมหาศาลคิดได้เป็นสัดส่วนกว่า 94% เพื่อใช้จัดตั้ง "รางวัลโนเบล - Nobel Prize" สำหรับมอบแก่ผู้ทำประโยชน์ดีเด่นแก่โลกโดยไม่เลือกสัญชาติ ณ สโมสรสวีเดน-นอร์เวย์ ในกรุงปารีส
ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นผลสืบเนื่องจาก สาวที่มีนามว่า "เบอร์ธา คินสกี" (Bertha Kinsky) อดีตเลขานุการส่วนตัวของโนเบล หญิงสาวชาวออสเตรียนรายนี้ มีความสัมพันธ์มากกว่าเจ้านายกับลูกจ้าง คล้ายเพื่อนสนิท แต่ไม่เคยเกินเลย เนื่องจากเบอร์ธา คินสกี มีคู่หมั่นอยู่แล้ว ประกอบกับความรู้สึกที่โนเบลมีให้ เปรียบดั่งความรักที่บริสุทธิ์ แม้ภายหลัง เบอร์ธา จะลาออกจากบริษัท ไปแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกับ "บารอน ฟอน ชุตเนอร์" คู่รักของเธอ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น เบอร์ธา ฟอน ชุตเนอร์ (Bertha von Suttner) ที่ออสเตรีย แต่ เบอร์ธา และ โนเบล ยังคงติดต่อกันผ่านจดหมายอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา
เบอร์ธา ได้ร้องขอให้ โนเบล ก่อตั้งกองทุนสันติภาพครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่สมัยยังเป็นเลขาฯ จวบจนกระทั่งจดหมาย แม้ผ่านมานานกว่า 20 ปี โนเบลก็ไม่เคยตั้งกองทุนเพื่อสันติภาพ ซึ่งได้ไปตั้งในพินัยกรรมเป็นรางวัลโนเบลนั่นเอง เหตุผลก็มาจากการที่เบอร์ธาสนับสนุนให้เกิดสันติภาพ จึงมีรางวัลสาขาสันติภาพที่เป็นที่ยิ่งใหญ่และน่าจับตามองที่สุด นอกจากนี้ยังมีสาขาวรรณกรรมที่เป็นผลมาจากเบอร์ธาด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจาก เบอร์ธาได้เขียนนวนิยายต่อต้านสงคราม และทุ่มเททำงานด้านการรณรงค์เพื่อสันติภาพอย่างต่อเนื่อง
ชีวิตของโนเบลได้เดินทางมาถึงจุดจบที่ เมืองซานเรโม ประเทศอิตาลี ด้วยสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. พ.ศ.2439 (ค.ศ.1896) ด้วยวัย 63 ปี หลังจากที่เขียนพินัยกรรม 1 ปี
รางวัลโนเบล Nobel Prize มีทั้งหมด 6 สาขาด้วยกัน ได้แก่ เคมี , ฟิสิกส์ , การแพทย์ , เศรษฐศาสตร์ , วรรณกรรม และ สันติภาพ เนื่องจากโนเบลเป็นนักเคมีและนักคิดค้น จึงต้องการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ให้ก้าวไกล แต่ที่สาขาสันติภาพ และวรรณกรรมเข้ามามีส่วนร่วมด้วยก็เป็นผลมาจากเบอร์ธา