ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
บล็อคเชน และ บิตคอย สองคำนี้กำลังได้รับการกล่าวถึงมากขึ้น ในฐานะของสกุลเงิน และระบบการทำธุรกรรมในโลกดิจิทัลยุคใหม่ ที่หลายคนบอกว่า จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทีเดียว
“บล็อคเชน และ บิตคอย” กลายเป็นคำที่โลกกำลังให้ความสนใจขึ้น บล็อคเชน คืออะไร และบิตคอย คืออะไร จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร เป็นคำถามที่คนในยุคดิจิทัล ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังจะเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตของมนุษย์ในอนาคตมากขึ้น
[embed]https://youtu.be/MbMJPg-yaN4[/embed]
คำแรก คือ บิตคอย เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิตัล ที่เรียกกัน “คริปโต เคอร์เรนซี่” หรือ สกุลเงินเข้ารหัส ซึ่งบิตคอย ถือเป็นสกุลเงินดิจิตัล สกุลแรกของโลก ได้รับการคิดค้น มาตั้งแต่ปี 2005 โดยผู้ใช้นามแฝงว่า “ซาโตชิ”
บิตคอย ได้รับการคิดค้นขึ้นมาภายใต้แนวคิดที่ว่า จะเป็นสกุลเงินที่มีความเสรีมากที่สุด ไม่ถูกควบคุมโดยภาครัฐ หรือธนาคาร ซึ่งต่างจากสกุลเงินในโลกจริงที่ถูกควบคุมโดยกลไกของธนาคารกลาง ภาครัฐ ดังนั้น บิตคอย จึงถูกคาดหวังที่จะเป็นสกุลเงินที่มีความเสรีมากที่สุด แต่กระนั้น บิตคอยไม่มีตัวตนจับต้องได้ และไม่ต้องอิงกับทองคำ
คำถามต่อมาก็คือ แล้วบิตคอยมาจากไหน คำตอบก็คือ ในโลกนี้ ได้มีการกำหนดให้บิตคอย มีอยู่ 21 ล้านบิตคอยทั่วโลกเท่านั้น และมีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง โดยราคาของบิตคอยล่าสุดนั้นขึ้นไปแตะที่ระดับ 3 พันดอลลาร์สหรัฐต่อบิตคอยแล้ว
ถ้าหากเราอยากได้บิตคอย เราจะหาได้จากไหน? วิธีง่ายๆก็คือ เข้าไปซื้อบิตคอยโดยตรงตามเวปบิตคอยที่มีให้บริการอยู่ทั่วไป และอีกวิธีหนึ่ง ก็คือ การเป็น “ไมเนอร์” หรือ “นักขุด” ซึ่งในส่วนนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับบล็อคเชนต่อไป ซึ่งนักขุดเหล่านี้ จะได้รับบิตคอยเป็นรางวัลตอบแทนนั่นเอง
โดยในปัจจุบันนั้น มีหลายประเทศที่รองรับให้บิตคอยเป็นเงินที่สามารถชำระได้ตามกฎหมายอย่างถูกต้องแล้ว เช่นประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการรองรับตามกฎหมาย ดังนั้น หากใครอยากจะลงทุนในบิตคอย ถ้าพบกับความเสียหายแล้ว ก็จะไม่ได้รับการดูแลนั่นเอง
และ เมื่อกล่าวถึงบิตคอย ก็ต้อง กล่าวถึงคำว่า “บล็อคเชน” เพราะสองสิ่งนี้เกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน พูดง่ายๆก็คือ บิตคอย คือ “สกุลเงิน” ส่วน บล็อคเชน คือเส้นทางการทำงานของบิตคอย
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในโลกปัจจุบันนั้น การทำธุรกรรมต่างๆ รวมไปถึงการเงิน จะเป็นระบบ “รวมศูนย์” หรือ “เซ็นทรัลไลซ์” Centralized ที่มีธนาคารเป็นศูนย์กลาง เป็นคนคอยจัดการเชื่อมให้ทุกเรื่อง เช่น เมื่อ นายเอ โอนเงินไปให้นาย บี ในต่างประเทศ ก็จะต้องโอนผ่านธนาคารที่เป็นตัวกลาง ซึ่งผู้โอนต้องเสียค่าธรรมเนียมบริการสูงลิ่ว และส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
แต่สำหรับเทคโนโลยี “บล็อคเชน” นั้น จะเป็นระบบที่ “การจาย” การจัดการออกไป หรือ ดีเซนทรัลไลซ์ (Decentralized) โดยไม่มีธนาคารเป็นคนกลางจัดการ แต่จะใช้ระบบของการไว้เนื้อเชื่อใจกันของผู้ที่อยู่ในระบบบล็อคเชนนั่นเอง โดยการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง จะมีการสร้างบล็อคขึ้นโดยอัตโนมัติ ที่ทุกคนในระบบจะทราบความเคลื่อนไหวทั้งหมด กลายเป็น “ห่วงโซ่ของบล็อคในระบบ” ที่สร้างขึ้นตลอดเวลานั่นเอง
ดังนั้น เมื่อนาย เอ ทำการยืมเงินจากนาย บี จำนวน 1 หมื่นบาท ข้อมูลนี้ก็จะ ได้รับการบันทึกไว้โดยผู้ที่อยู่ในเครือข่ายบล็อคเชนทั้งหมด ทุกคนจะรับรู้ได้ว่า นาย เอ ได้ทำการยืมเงินจากนายบี เป็นจำนวน 1 หมื่นบาท
จะเห็นได้ว่า ข้อมูลเหล่านี้ จะรับรู้กันหมดทุกคน โกหกไม่ได้ และ เป็นการทำงานร่วมกันแทนที่จะต้องพึ่งธนาคารอย่างในระบบเดิม
ดังนั้น เมื่อ นาย เอ อยู่ในประเทศไทย จะโอนเงินไปให้นาย บี ซึ่งอยู่ในอเมริกา จำนวน 100 บิตคอย นายเอก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ค่าทำธุรกรรม และ ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินอีกด้วย โดยในระบบบล็อคเชนนั้น จะมีผู้ที่อยู่ในระบบจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นไมเนอร์ หรือนักขุด ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของบล็อคที่เกิดขึ้นของธุรกรรมที่เกิดขึ้น และคนเหล่านี้ จะได้รับรางวัลตอบแทนเป็นบิตคอยด้วยนั่นเอง
ดังนั้น การมาถึงของเทคโนโลยี บล็อคเชน และ สกุลเงินดิจิตัล ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆทั่วโลก กำลังกลายเป็นสิ่งท้าทายอำนาจรัฐ และบรรดาสถาบันการเงินรวมไปถึงธนาคารพาณิชย์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะระบบเหล่านี้ ไม่มีคนกลาง ไม่ถูกตรวจสอบจากภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ จะยิ่งทำให้รูปแบบการเงินของโลกแห่งอนาคต เปลี่ยนไปอย่างที่ คิดไม่ถึงอย่างแน่นอน