เลขาฯป.ป.ส. แจงกำหนดพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน ครอบครอง "พืชกระท่อม" พร้อมเพิ่มพื้นที่หากชุมชนช่วยกันดูแล โดยมีขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ 8 ขั้นตอน
13 มิ.ย.63 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. ชี้แจงว่าตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบหลักการกำหนดพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการศึกษาการควบคุมดูแลการใช้พืชกระท่อมโดยประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 58/2 สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสังกัดกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานและกำหนดขั้นตอนในการดำเนินงานแล้ว
โดยหลักการสำคัญในการดำเนินงานคัดเลือกพื้นที่นำร่องคือ การมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน เพราะเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแลไม่ให้มีการใช้พืชกระท่อมผิดวัตถุประสงค์ โดยมีขั้นตอนการกำหนดพื้นที่ 8 ขั้นตอน คือ
1. การประเมินและกำหนดพื้นที่เป้าหมาย
2. การชี้แจงทำความเข้าใจในพื้นที่
3. การจัดทำคำร้องเพื่อขอเตรียมพื้นที่
4. การจัดตั้งกลไก
5.สำรวจพื้นที่และบันทึกข้อมูลการขึ้นทะเบียนผ่านระบบสารสนเทศ
6. การจัดทำธรรมนูญชุมชน
7. การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมพืชกระท่อม และ
8. การจัดเวทีประชาคมธรรมนูญชุมชนและแผนปฏิบัติการ
ซึ่งคาดว่าทุกขั้นตอนจะแล้วเสร็จในห้วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 จากนั้นสำนักงาน ป.ป.ส. จะเสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีมติให้ให้รัฐมนตรีว่าการทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่ทำการเสพพืชกระท่อมได้ไม่เป็นความผิด โดยการเสพและการครอบครองพืชกระท่อมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า "ต้นกระท่อมแต่ละต้นที่ได้รับการอนุญาตให้ครอบครองตามกฎหมาย จะมีการจัดทำทะเบียนเพื่อควบคุมจำนวนและเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัยสารในพืชกระท่อมแต่ละต้นแต่ละสายพันธ์ว่ามีความสัมพันธ์กับพื้นที่และดินที่เพาะปลูกหรือไม่ อย่างไร เพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือทางเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับพืชกระท่อมว่าต้องคำนึงถึงทั้งการใช้ประโยชน์และการป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดควบคู่ด้วย
การกำหนดพื้นที่นำร่อง 135 หมู่บ้าน/ชุมชน จึงเป็นประโยชน์ในการศึกษารองรับนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ การประกาศพื้นที่ต้องผ่านการประเมินอย่างรัดกุมและเป็นไปตามขั้นตอน และอย่างที่กล่าวข้างต้นคือวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อการศึกษา จึงต้องเริ่มต้นจากบางพื้นที่ก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม และสามารถทบทวนการปรับแนวทางการอนุญาตหรือกระบวนควบคุมกำกับดูแลได้ในกรณีที่เกิดปัญหาการใช้ผิดวัตถุประสงค์"