ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
iLaw องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และรณรงค์เพื่อการปฏิรูปกฎหมาย โพสต์ซัด 5 ใน 6 สว.ผบ.ผู้นำเหล่าทัพขาดประชุมลงมติ เผยรายชื่อจัด 10 อันดับแรกขาดประชุมมากสุดถึง 144 จาก 145 มติ เพจดังทำสำเนาเอกสารดังกล่าว ชี้การประชุม 8 ครั้งแรกซึ่งมีการลงมติทั้งหมด 7 มติจะไม่ถูกนำมานับรวมกับ 145 มติในรายงานนี้
.
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269(1)(ค.) ระบุโควตาที่มาของ ส.ว.จากกลุ่มทหารและตำรวจโดยอัตโนมัติ ได้แก่ 1.ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.ผู้บัญชาการทหารบก 4.ผู้บัญชาการทหารเรือ 5.ผู้บัญชาการทหารอากาศ 6.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะได้เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง โดยไม่ต้องลาออกจากราชการ ทำงานไปพร้อมกันได้
.
ก่อนจะดูความขยันขันแข็งของผู้นำเหล่าทัพในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ต้องเข้าใจก่อนว่า การเข้าประชุมและการลงมติในที่ประชุมถือเป็นหน้าที่หลักของ ส.ว. รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการพ้นตำแหน่งของ ส.ว. ที่ไม่เข้าร่วมประชุมสภาไว้ในมาตรา 111 (5) ว่าให้สมาชิกภาพของ ส.ว สิ้นสุดลง เมื่อขาดประชุมเกิน 1 ใน 4 ของจํานวนวันประชุมในสมัยประชุมที่มีกําหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานวุฒิสภา
.
หมายความว่าภายใน 120 วันนั้น ส.ว. ต้องเข้าประชุมมากถึง 75 % แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากประธานวุฒิสภาอนุญาตให้ขาดประชุมก็จะไม่นับว่าขาดประชุม ปกติแล้วการลาก็ถือว่าประธานวุฒิสภาอนุญาตแล้ว ในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ก็ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการขาดประชุมเป็นบทลงโทษ ส.ว. ไว้ด้วย ซึ่งต่างจากสมัยที่ยังใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่มีบทลงโทษให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ้นจากตำแหน่งหากขาดประชุมและไม่ลงมติเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนการประชุม
.
จากการตรวจสอบทั้ง 145 มติ พบว่า ส.ว.ที่เป็นผู้นำทหารและตำรวจ 5 ใน 6 คน
ติดโผ 10 อันดับคนที่ขาดลงมติมากที่สุด ได้แก่
1. พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ (ผบ.ทร.) ขาด 144 มติ
2. พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ผบ.ทบ) ขาด 143 มติ
3. พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน (อดีต ผบ.ทอ.) เปลี่ยนเป็น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ (ผบ.ทอ.) เข้าเป็น ส.ว. แทนตามตำแหน่งโดยใช้รหัส ส.ว. เดิม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ทั้งสองคนรวมกัน ขาด 143 มติ
4. พลตรี กลชัย สุวรรณบูรณ์ ขาด 143 มติ
5. ศาสตราจารย์ ร้อยเอก ทินพันธุ์ นาคะตะ ขาด 137 มติ
6. พลเอก พรพิพัฒน์ เบญญศรี (ผบ.สส.) ขาด 136 มติ
7. พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ (ปลัดกระทรวงกลาโหม) ขาด 135 มติ
8. พลตำรวจโท จิตติ รอดบางยาง ขาด 125 มติ
9. กูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา ขาด 117 มติ
10. พลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ขาด 112 มติ
.
ส่วนพลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา (ผบ.ตร) มีสถิติไม่ได้เข้าลงมติ 99 มติ และเข้าลงมติ 46 มติ ถือว่าขาดน้อยที่สุดในบรรดา ส.ว.เหล่าทัพ
.
สำหรับ ส.ว. ที่ขยันที่สุด เข้าประชุมโดยไม่เคยขาดการลงมติสักครั้ง มีอยู่ 2 คน ได้แก่ พลเอกจีระศักดิ์ ชมประสพ และพลเอก อู้ด เบื้องบน
.
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของการไม่ได้มาลงมติของ ส.ว. 250 คนนั้น พบว่า แต่ละมติจะมีคนขาดอยู่ 25 คน
.
อ่านทั้งหมดได้ที่: https://www.ilaw.or.th/node/5663
——————————
*ทั้งนี้ ข้อมูลทั้งหมดสังเคราะห์จากเอกสารบันทึกการลงมติรายบุคคลของ ส.ว. แต่เนื่องจากเอกสารนี้ไม่ได้เผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปค้นหาได้ในเว็ปไซต์ เพราะไม่ได้มีข้อบังคับ ส.ว.กำหนดไว้ไอลอว์จึงใช้สิทธิผ่าน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอข้อมูลจากสำนักเลขาธิการวุฒิสภา จากนั้นจึงได้คัดถ่ายบันทึกการลงมติรายบุคคลตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 9 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง (5 สิงหาคม 2562 จนถึง การประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 22 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง (24 กุมภาพันธ์ 2563) รวมการประชุม 34 ครั้ง 145 มติ
.
ส่วนบันทึกการลงมติรายบุคคลของ ส.ว. ในการประชุมครั้งที่ 1-8 สมัยสามัญ ประจำปีครั้งที่หนึ่ง (24 พฤษภาคม 2562 – 15 กรกฎาคม 2562) เป็นการประชุมในสถานที่ชั่วคราว หอประชุมใหญ่บริษัททีโอที จำกัด(มหาชน) โดยใช้ระบบการลงคะแนนด้วยการเขียนลงกระดาษทั้งหมด เอกสารแต่ละมติมีจำนวนมาก ไอลอว์จึงไม่ได้ทำการขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าว ดังนั้น การประชุม 8 ครั้งแรกซึ่งมีการลงมติทั้งหมด 7 มติจะไม่ถูกนำมานับรวมกับ 145 มติในรายงานนี้
Cr. iLaw