svasdssvasds

เรียนออนไลน์ เสริมประสบการณ์หรือสร้างความกดดัน

เรียนออนไลน์ เสริมประสบการณ์หรือสร้างความกดดัน

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แรกที่รัฐบาลจัดการ เรียนออนไลน์ และเรียนทางไกล เหมือนเป็นระยะทดลอง แต่หากต้องมีการเรียนออนไลน์ต่อไป ก็ต้องการปรับรูปแบบและวางแผนรองรับบ้านที่ไม่พร้อม

เรียนออนไลน์ กลายเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทั่วโลกพยายามหยิบมาเติมส่วนที่ขาด ระหว่างที่โรงเรียนต้องปิดเพราะมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ซึ่งอาจทำให้เด็กเจเนอเรชั่นนี้ทั้งรุ่น ต้องได้รับผลกระทบทั่วโลก

ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่พยายามหาทางออกให้เด็กๆ ในขณะที่โรงเรียนยังไม่เปิด โดยรัฐบาลได้มีโครงการเรียนออนไลน์ที่เริ่มไปเมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม

ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่หลายๆ ฝ่ายกังวล หากเด็กมาจากบ้านที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายได้น้อย อาจกลายเป็นทำให้ลูกขาดโอกาสที่จะเรียนให้ทันเพื่อน

มนัส อ่อนสังข์ หรือ “พี่ลาเต้” ของเด็กๆ บรรณาธิการด้านการศึกษาของเวบ Dek-D.com เวบที่เป็นศูนย์กลางและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเรื่องการศึกษาให้เด็กๆ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กล่าวว่า นี่เป็นแค่สิ่งที่มีขึ้นมาเพื่อเสริมเฉพาะกิจในช่วงนี้เท่านั้น เพื่อทดแทน แต่ไม่ใช่โครงการหลัก และความคิดที่ว่า พอไม่ได้เรียนออนไลน์แล้วจะขาดโอกาสไปเลย อันนี้คิดว่าหลายๆ โรงเรียนน่าจะเตรียมแผนรองรับตรงนี้ไว้อยู่แล้ว

มนัสระบุว่า ข้อจำกัดมีตรงที่ว่า เทคโนโลยี เข้าไม่ถึงทุกคน และนี่เป็นของใหม่ ทุกคนยังไม่เคยสัมผัส ปีนี้นำมาใช้เป็นปีแรก ก็เป็นการลองผิดลองถูก

ด้านอาจารย์ เจตเจริญ มาสีสุก รองผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ที่จัดขึ้น เป็นไปตามนโยบายกระทรวง เป็นนโยบายทดลอง แต่โรงเรียนก็ไม่ได้บังคับว่าต้องให้ดูทุกคน ไม่มีผลต่อคะแนนใดๆ การเรียนออนไลน์ช่วงนี้ เหมือนให้เด็กเตรียมความพร้อมมากกว่า ว่าเทอมต่อไปจะต้องเรียนอะไรบ้าง

เสียงสะท้อนการเรียนออนไลน์

มนัสกล่าวว่า เด็กๆ ที่เข้ามาในเว็บเด็กดี ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว มีเน็ต มีมือถือ มีคอมพิวเตอร์ แต่ก็พบปัญหาเรื่องระบบ เข้าไปแล้วระบบล่ม ทำให้เข้าไม่ได้ สำหรับคนที่เข้าไปเรียนได้ บางคนก็รู้สึกว่าอาจารย์ไปเร็วเกินไป

จากการสอบถามผู้ปกครองหลายคน พบว่า ปัญหาคือบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียน อยู่ที่บ้าน เด็กๆ รู้สึกว่าไม่มีกฎเกณฑ์เหมือนที่โรงเรียน เด็กหลายคนไม่สามารถโฟกัสได้นานๆ

ปัญหาอีกอย่างคือบางคนหาช่องเรียนไม่เจอ สุดท้ายต้องเอาใบงานที่ได้มาจากโรงเรียนมาสอนลูกเอง เพื่อที่ลูกจะได้มีส่งครู แล้วก็ละทิ้งความพยายาในการเรียนออนไลน์ไปเลย

อาจารย์เจตเจริญ “เราจะบอกผู้ปกครองเลยว่า หนึ่ง ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจะไปซื้อแท็บเล็ต หรือไปซื้ออะไรก็แล้วแต่ที่เอามาให้ลูกดู เพราะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เปิดเทอม ลูกก็ได้เรียนตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไรเลย”

แผนรองรับบ้านที่ไม่พร้อมกับการ เรียนออนไลน์

จากกการสอบถาม อาจารย์เจตเจริญ พบว่ารัฐบาลไม่มีแผนเตรียมให้สำหรับครอบครัวที่อาจไม่มีความพร้อมในการ เรียนออนไลน์ ดังนั้นก็จะอยู่ที่แต่ละโรงเรียนจะวางแผนแก้ปัญหาเอง แต่กระทรวงศึกษาธิการมีการตรวจสอบและติดตามประเมินผลแล้วสรุปส่งเข้ากระทรวง เพื่อเอาข้อมูลไปปรับใช้ในอนาคต ในโอกาสที่ถ้ายังเปิดเรียนไม่ได้จริงๆ จะได้พิจารณาว่าโรงเรียนไหนที่ทำได้ หรือไม่ได้ และจะลงมาช่วยได้อย่างไร

ความกังวลของผู้ปกครอง

จากการสอบถามผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง พบว่าการที่โรงเรียนปิดมาเป็นเวลานาน สร้างความกังวลให้ผู้ปกครอง ว่าลูกอาจจะพัฒนาได้ไม่เต็มที่หรือไม่ แม้ปกติเป็นเด็กตั้งใจเรียนที่โรงเรียน ก็อาจไม่สามารถที่จะตั้งใจเรียนที่บ้านได้มากเท่า และพ่อแม่เองไม่ใช่ครูมืออาชีพ อาจไม่สามารถสอนหรือดูแลได้เท่าโรงเรียน แต่ในสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องยอมรับ ว่าต้องเป็นแบบนี้

นอกจากนี้ การเรียนออนไลน์กับเด็กเล็ก ต้องคอยมีผู้ปกครองคอยให้ความช่วยเหลือตลอด เพราะการเรียนกับ “ครูตู้” เป็นการสื่อสารทางเดียว

ความกดดันของผู้ปกครอง

การพยายามให้ลูกเข้าไปเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ ที่มีขึ้นเพื่อทดแทนห้องเรียนจริง กลายเป็นสร้างความกดดันให้ผู้ปกครองไม่น้อย ไม่ใช่ว่าแค่สามารถรองรับให้ลูกเข้าเรียนได้หรือไม่ แต่เป็นคำถามในใจพ่อแม่ว่า ถ้าลูกไม่ยอม หรือไม่สามารถให้ลูกเข้าเรียนได้ จะกระทบกับการเรียนหรือพัฒนาการของลูกหรือเปล่า

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมีความกดดันว่าตัวเองไม่ใช่ครู แต่ต้องทำเพื่อไม่ให้ลูกถดถอยเรื่องการเรียน และเด็กบางคนที่ยิ่งเห็นพ่อแม่จริงจังมากๆ กลับมีความรู้สึกต่อต้านอีก

ถ้าต้องปิดต่อไปอีกนับเดือน

จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดว่าโรงเรียนในประเทศไทยจะกลับมาเปิดทำการเมื่อใดแน่ และแต่ละโรงเรียนจะจัดการอย่างไรให้เป็นไปตามมาตรฐานรักษาระยะห่างและสุขอนามัย

ผู้ปกครองบางส่วนยังคงลังเล หากต้องส่งลูกกลับไปเรียนเร็วๆ นี้ คงต้องดูสถานการณ์ก่อน พร้อมทั้งดูมาตรการของโรงเรียน หลายคนอยากรอให้มีวัคซีนก่อน และบางคนก็พร้อมที่จะจ้างครูมาที่บ้าน

ถ้าต้องปิดต่อไปอีกนับเดือน ผู้ปกครองระบุว่า “ไม่ไหวก็ต้องไหว” และต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเรียนที่บ้านมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะทำให้ผู้ปกครองเหนื่อยมากขึ้น

ขณะที่มนัสกล่าวว่า "ถ้าสมมุติว่ามันเกิดโชคร้ายจริงๆ คือวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดไม่ได้ มันเปิดไม่ได้ ทำให้เด็กทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน ผมว่าการเรียนออนไลน์แบบแมส แบบเปิดทีวีแล้วนั่งดูกันทุกโรงเรียน ดูรายการเดียวกัน ดูคุณครูเดียวกัน ตรงนี้ ผมว่า อันนี้อาจจะมีช่องว่างเยอะ อาจจะมีช่องว่างและก่อให้เกิดปัญหาตามมาเยอะ”

ทางด้าน อาจารย์เจตเจริญ เสนอว่า ถ้าต้องปิดต่อไปและต้องใช้เรียนออนไลน์เต็มรูปแบบมากกว่านี้ ก็ต้องมีการปรับให้เป็นการสื่อสารสองทาง เพราะถ้าครูสอนคนเดียว เด็กนั่งฟังอย่างเดียว ก็ไม่เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ นอกจากนี้ ก็ยังมีความเป็นห่วง ว่าบ้านที่ไม่พร้อม จะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือได้

โควิด 19 เผยให้เห็นปัญหาในระบบการศึกษาของไทย

นี่อาจเป็นโอกาสดี หนึ่งในไม่กี่อย่างที่เกิดจากโควิด 19 ที่จะให้รัฐบาลไทยได้ลองปรับเปลี่ยนกลยุทธ และวิธีคิดในการเรียนการสอนใหม่

ถ้าเวลาเรียนต้องจำกัด ควรต้องปฏิรูปวิชาเรียนเอาที่จำเป็นและสำคัญจริงๆ สำหรับแต่ละระดับชั้นหรือไม่

ถ้าจำนวนเด็กนักเรียนแต่ละห้องต้องเล็กลง ควรจะต้องทำอย่าง จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องเรียนอย่างไร กับโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศ

ถ้าต้องเรียนออนไลน์ในบางวิชา มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาครูที่มีความสามารถในการสอนให้สนุก เพื่อให้เด็กสามารถสนใจอยู่หน้าจอได้นานขึ้น หาครูที่อาจต้องมีค่าตัวสูง แต่เป็นการลงทุนเพื่อการพัฒนาคุณภาพของคน

ถ้าต้องปิดต่อไปอีก เป็นโอกาสจริงๆ ให้รัฐบาลคิดระบบ วางแผน ปรับรูปแบบการเรียนการสอน ฟังเสียงอาจารย์และโรงเรียนในที่ห่างไกล กระจายทรัพยากรและความสามรถจากเมืองใหญ่สู่ชนบท ถ้านักเรียนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือทีวีไม่ได้ ทำอย่างไรให้ทีวีไปถึงเด็ก จัดที่ประจำหมู่บ้านหรือไม่ ให้ผู้ปกครองสักคนเป็นอาสาจัดการ

ทั้งหลายทั้งปวง สำคัญมากที่รัฐบาลจะตั้งฟังเสียงสะท้อน และกลับมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ให้เข้าสถานการณ์ขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่มนัสกล่าวว่า การเรียนออนไลน์ครั้งนี้เพิ่งเริ่ม เป็นมาตรการเสริม อาจเป็นการลองผิดลองถูก

แต่ถ้าจะใช้การเรียนออนไลน์เป็นมาตรการหลัก ต้องปรับอีกมากมาย ไม่อย่างนั้นปัญหาจะตามมาอีกหลายอย่าง และจะกลายเป็นว่าเราทำร้ายเด็กเจเนอเรชั่นนี้

related