กบง. มีมติ4 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปี หลังประเมินผลกระทบการระบาดโควิด 19 ระยะข้างหน้ารุนแรงกว่าที่คาด รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันนี้(25 มี.ค.) ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
เลขานุการ กบง. กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบ อย่างไรก็ดี ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ตลาดการเงินได้เริ่มกลับมาทำงานปกติ
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการระบาดของ COVID-19 ในระยะข้างหน้ายังมีความรุนแรง รวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งในภาวะเช่นนี้ คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดของรัฐบาลที่ได้ประกาศไปแล้ว รวมทั้งจะต้องดำเนินการช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมเพิ่มเติมจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมนัดพิเศษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงเนื่องจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของ COVID-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในหลายประเทศ ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างขึ้น เป็นผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัว
ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการด้านการคลังจะต้องเป็นกลไกหลักในการบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในปี 2564 หากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลง
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัว ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ประสิทธิผลของมาตรการดูแลและเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด
ส่วนเสถียรภาพของตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ปรับดีขึ้น หลัง ธปท. ออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงิน แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้
ส่วนด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งโดยเฉพาะสกุลเงินหลักและมีแนวโน้มผันผวน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็งสะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดท่ามกลางความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่ เข้มแข็ง
อย่างไรก็ดี ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ที่อาจด้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรง ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องประสานมาตรการทั้งทางการเงินและการคลังเพื่อดูแลครัวเรือนและธุรกิจ SMEs
มองไปข้างหน้า
คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายเพิ่มเติมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการการเงินอื่นที่จะช่วยเสริมกลไกการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์