เสรีพิศุทธ์ เปิดประเด็น อภิปรายปมถวายสัตย์ ไม่สนคำเตือนที่ตกลงกันไว้ ฉะเดือดฝ่ายค้าน ท้ารองประธานสภาคนที่สอง เจอกันนอกสภา เหตุห้ามอภิปรายปมถวายสัตย์ ศุภชัย ลั่นเป็นสหายแสง มีศักดิ์ศรีไม่แพ้วีรบุรุษนาแก
วันนี้ (26 ก.พ.63) เมื่อเวลา 10.37 ที่ผ่านมา ในการประชุมสภาฯญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพรรคเสรีรวมไทย เปิดประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีนำคณะรัฐมนตรี (ครม.) การถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนการเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วน และถือเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้เริ่มไปเพียง 12 นาที นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ประท้วงพร้อมย้ำว่า เป็นข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน ซึ่งได้แจ้งให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ทราบว่า ไม่สามารถอภิปรายในประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดก่อนการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ หลังจากการประท้วงดังกล่าวบรรยากาศการประชุมเริ่มวุ่นวายมากขึ้น เมื่อมี ส.ส.ประท้วงกันไปมา ระหว่างการ ห้ามอภิปรายกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ และประท้วงการทำหน้าที่ของนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ฐานะประธานในที่ประชุม ว่าไม่เป็นกลางเพราะอนุญาตให้ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลประท้วงในลักษณะอภิปรายแทนนายกฯ ทั้งนี้ มีช่วงหนึ่งที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ประท้วง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โดยใช้คำว่า ดื้อด้าน เหมือนเด็กดื้อรั้น ไม่ฟังคำวินิจฉัยของประธานที่ประชุม ที่ระบุว่ากรณีถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นไม่สามารถอภิปรายได้ ทำให้ มีส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านประท้วงน.ส.ปารีณาและขอให้ถอนคำพูด ซึ่งน.ส.ปารีณา จึงถอนคำว่าดื้อด้านโดยดี
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศยังคงวุ่นวายต่อไป แม้นายศุภชัย จะวินิจฉัยยืนยันว่าไม่สามารถอนุญาตให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อภิปรายประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณได้ หากเนื้อหาอภิปรายเจาะจงเฉพาะประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดก่อนการบริหารราชการแผ่นดิน อีกทั้งเป็นข้อตกลงระหว่างวิปทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัย, ข้อบังคับการประชุมข้อ 69 วรรคสอง ห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น หากอภิปรายประเด็นดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะเป็นภารกิจของครม. และพระมหากษัตริย์ หากเกริ่นนำพอประมาณ และเรื่องอื่นอนุญาต แต่หากอภิปรายแบบเจาะจงตนไม่อนุญาต พร้อมขอคำยืนยัน
หลังจากนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ โต้ตอบนายศุภชัย ว่า "เป็นประธานเป็นหรือไม่ เพราะก่อนที่ประธานสภาฯ จะวินิจฉัยตามคำประท้วงต้องฟังเนื้อหาและข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน อย่าทำตามโพย หรือ ตามโผ" ต่อจากนั้นนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ประท้วงให้ผู้อภิปรายถอนคำพูดว่า เป็นประธานเป็นหรือไม่ ถือว่าเป็นคำดูถูกบุคคลอื่น และเหยียดหยามบุคคลที่ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม แม้นายศุภชัย จะระบุว่าไม่ติดใจและขอให้นายสิระ ยุติแต่เหตุการณ์ประท้วงยังไม่ยุติ แต่ส.ส.พรรครัฐบาลเรียกร้องให้นายศุภชัย ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทำให้นายศุภชัย วินิจฉัยตามว่าขอให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถอนคำพูดที่ดูถูกประธานมาหลายครั้ง ไม่เช่นนั้นจะไม่อนุญาตให้อภิปรายต่อ และการอภิปรายต่อขอให้ยึดคำวินิจฉัยของประธาน
ซึ่งในที่สุด พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยอมถอนคำพูดและอภิปรายต่อในกรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ยืนยันว่าสามารถอภิปรายได้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่มีครอบครัวหนีเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และทำเอกสารปลอม จนเวลาล่วงเลยทำให้คนดังกล่าวเข้าสู่การมีอำนาจ ดังนั้นจะไม่ให้อภิปรายเรื่องตั้งแต่เกิดได้อย่างไร และหากระบุว่าไม่สามารถอภิปรายเรื่องก่อนบริหารราชการในรัฐบาลปัจจุบันได้ ตนขอถามว่ากรณีที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งที่ถูกศาลพิพากษาเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว จะไม่ให้อภิปรายใช่หรือไม่ ส่วนข้อตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างวิปทั้ง 2 ฝ่าย เป็นมติมั่วๆ
ทั้งนี้ นายศุภชัย วินิจฉัย ยังให้โอกาศผู้อภิปราย ย้ำว่าหากอภิปรายเพื่อเกริ่นเรื่องพอประมาณ เพื่อโยงถึงเรื่องอื่นๆ สามารถทำได้
แต่แล้วหลังจากที่ นายศุภชัย ฐานะประธานในที่ประชุม ให้หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยอภิปรายต่อ บรรยากาศก็เริ่มตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ย้ำในเนื้อหาของการถวายสัตย์ปฏิญาณ ทำให้ นายศุภชัย กล่าวขึ้นว่าตนไม่อนุญาตให้อภิปรายในเรื่องดังกล่าวอีก เพราะผิดข้อบังคับ และขัดกับคำวินิจฉัย และหากอภิปรายต่อจะให้ออกจากห้องประชุม ซึ่งตนไม่ได้ขู่ ทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว่า "หากท่านจะเอาจริง ก็เจอกันนอกสภาฯ" ทำให้นายศุภชัย กล่าวว่า "ผมไม่กลัว หากมีคนบอกว่าท่านคือ วีรบุรุษนาแก ผมก็เป็นสหายแสง อย่างไรก็ตามหากยังอภิปรายเรื่องเดิม ตนจะขอเชิญออกนอกห้องประชุม 30 นาที เพื่อสงบจิตสงบใจ" ทั้งนี้เมื่อการโต้เถียงดังกล่าวเริ่มบานปลาย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ขอยุติการอภิปราย และนั่งลงในที่ประชุม จากนั้นการประชุมจึงเริ่มดำเนินการต่อไป