"ลุงผสมสีร" ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน คนชายขอบผู้บรรจงออกแบบเรือแห่งชีวิต ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยง และศิวิไลซ์ ในมหานครใหญ่
ณ ริมถนนสายใหญ่แห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพมหานคร ชายชราเร่ร่อน ที่มีอาการป่วยทางจิตเวช กำลังใช้ปากกาและไม้บรรทัด บรรจงตีเส้นลงสมุดอย่างพิถีพิถัน โดยบอกกับเราว่า เขากำลังออกแบบเรืออยู่
และหากว่าเรือลำนี้ เปรียบได้ดังชีวิตของผู้วาด ถึงแม้จะล่องลอยผิดที่ผิดทาง แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีของคนชายขอบกลุ่มหนึ่งในเมืองใหญ่ กลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เนื่องจากอาการป่วยไข้ แต่ก็ต้องพยายามดำเนินชีวิตต่อไป ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงมากมาย
ลุงท่านนี้มาจากไหน ไม่มีใครทราบ โดยเขาได้โชว์สมุดที่มีภาพวาดการออกแบบเรือมากมาย ซึ่งระบุชื่อเจ้าของผลงาน ผสมสีร สรอนสา และผู้คนในละเเวกนั้นให้ข้อมูลว่า เขามาใช้ชีวิตอยู่ตรงนี้ราว 2 – 3 เดือนแล้ว โดยอาศัยนอนข้างโครงไม้ ซึ่งคาดว่าน่าจะทำขึ้นมาเอง ที่มีพลาสติกคลุมอยู่ด้านบน ราวกับบ้าน หรือคล้ายเรือลำน้อย ที่ฝ่าฟันคลื่นลมแห่งชีวิตมาอย่างยาวนาน จนชำรุดผุพัง และยากลำบากที่จะแล่นไปต่อได้
สปริงนิวส์ : เรือที่ลุงวาดเนี่ย เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์อะไรครับ ?
ลุงผสมสีร : เอาไว้ลอยน้ำครับ ผมฝึกให้บินน่ะ บินลอยฟ้า เหมือนกับว่าว ให้มันบินบนฟ้า
สปริงนิวส์ : คุณลุงคิดมานานแล้วยังครับ เรื่องเหล่านี้ ?
ลุงผสมสีร : โห หลายตัวแล้ว หลายตัวแล้ว
สปริงนิวส์ : ตอนนี้คุณลุงจำได้ไหมครับ ว่าตัวเองอายุเท่าไหร่แล้ว ?
ลุงผสมสีร : (ทำท่าครุ่นคิด) อายุ 197 ปี
หากมองเผินๆ การใช้ชีวิตตรงนี้ของลุงผสมสีร ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาใดใด แต่จากการพูดคุยกับ คุณถิรนันท์ ช่วยมิ่ง เจ้าหน้าที่โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อน ที่มีอาการป่วยทางจิตเวช ทำให้เราได้รับข้อมูลที่สะเทือนใจ อย่างไม่น่าเชื่อว่า บางเหตุการณ์จะเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความศิวิไลซ์ในมหานคร
“ในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเยอะมาก แบ่งออกเป็นคนไร้บ้าน กับผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน ถ้าเป็นกรณีของคนไร้บ้านทั่วไป เขาเต็มใจที่จะใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ แต่ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน อยากให้คนในสังคมสังเกตง่ายๆ เลยก็คือ เขาจะมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน มักพูดคนเดียว เพราะเขาได้ยินเสียงอยู่ในหู เหมือนว่ามีคนมาพูดกับเขา หลงผิด แล้วเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความจริง...
"ถ้าคนไร้บ้าน คือคนชายขอบ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชข้างถนนเนี่ย ก็คือส่วนสุดท้ายของขอบ ที่คนในสังคมมักมองไม่เห็น”
และสิ่งที่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าคนกลุ่มนี้มักก่อเหตุทำร้ายผู้ที่สัญจรผ่านไปมา แต่คุณถิรนันท์บอกเล่าว่า จากประสบการณ์ในการทำงานกว่าร้อยกรณีศึกษา รวมถึงสถิติ พบว่าคนกลุ่มนี้ก่อเหตุทำร้ายผู้อื่นน้อยมาก หรือแทบจะไม่พบพฤติกรรมดังกล่าวเลย ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่เสี่ยงถูกทำร้าย อาทิ กลุ่มผู้ป่วยหญิง ก็มีความเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ
“เคสเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกกระทำ อย่างเคสที่เป็นผู้หญิงท้อง เขาท้องอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าเขาท้องมาจากตรงไหน ก็คืออยู่ในพื้นที่สาธารณะตั้งเเต่ยังไม่ท้อง แล้วสุดท้ายก็ท้อง เราไปเจอตอนที่เขาท้องใหญ่พอสมควรแล้ว โดยมีพลเมืองดีแจ้งเข้ามา จากนั้นเราก็ไปช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา เเต่ที่โรงพยาบาลไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ท้อง
“และผู้ป่วยที่ท้อง ต้องให้ยา (รักษาโรคทางจิตเวช) ในปริมาณที่น้อยกว่าปกติ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกในท้อง ต่อมามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปอยู่บ้านพักแม่และเด็ก หลังจากนั้นเขาก็มีอาการหนักขึ้น ทำร้ายคนอื่นๆ ทางศูนย์จึงต้องนำส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง
“แต่ระหว่างการนำส่ง ผู้ป่วยได้หนีออกมาจากโรงพยาบาล เราก็ตามหากัน ปรากฏว่ามาเจอเขาอยู่ตรงสะพานซังฮี้ ปั๊มน้ำมัน กำลังคลอดลูกอยู่ข้างถนน ตรงป้ายรถเมล์
"ผู้ที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า ผู้ป่วยบีบท้องตัวเอง เพื่อให้ลูกไหลออกมา แล้วก็ดึงสายสะดือ กลางป้ายรถเมล์เลยค่ะ จนเลือดกับไขมันเต็มไปหมดบริเวณนั้น
"ต่อมากู้ภัยก็มารับเขาไปรักษา ส่วนลูกเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่เรารู้สึกสะเทือนใจที่สุด แล้วก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ทำไมเราต้องให้พวกเขาเข้าสู่ระบบการรักษา...
“โดยเราอยากให้เห็นเขาในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อที่เราจะตระหนักได้ว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนเลยในโลกใบนี้ ที่สมควรที่จะตกอยู่ในชะตากรรมเเบบนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องเวรหรือเรื่องกรรม มันเป็นเรื่องของระบบสังคม สวัสดิการ หรือว่าเซฟตี้เน็ตในสังคม ที่เราจะต้องเซฟคนเหล่านี้ด้วย เพราะว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา”
คุณถิรนันท์กล่าวว่า ในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ หากพบบุคคลตามพื้นที่สาธารณะ ที่มีลักษณะเข้าข่ายผู้ป่วยจิตเวช สามารถโทรสายด่วนแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หมายเลขโทรศัพท์ 1300 , โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หมายเลขโทรศัพท์ 096-078-4650 รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่
โดยเคสของลุงผสมสีร ที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิกระจกเงา ติดตามอาการมาระยะหนึ่งและประเมินว่า จะต้องนำลุงเข้าสู่กระบวนการรักษา ก่อนที่ทุกอย่าง...จะสายเกินไป
และจากการพูดกับ คุณสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ก็ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการดังกล่าวว่า เป็นภารกิจต่อเนื่องมาจากการตามหาบุคคลสูญหาย ของทางมูลนิธิ
“มีคนหายประเภทหนึ่ง หายออกจากบ้านด้วยอาการทางจิต แล้วก็หาไม่เจอเลย เราจึงมีข้อสันนิษฐานว่า เขาน่าจะมาอยู่ตามข้างถนนนี่เเหละ มาเดินเร่ร่อน และพอทำโครงการนี้มาระยะหนึ่ง เราก็เจอสภาพแบบนี้จริงๆ เขาเป็นคนหายที่ครอบครัวตามหา แต่ไม่รู้ว่าจะติดตามอย่างไร เพราะบางทีเขาอาจจะนั่งรถไปไกลมาก ไกลจากบ้านเขา ไปอยู่ตามข้างถนนเเล้วก็ไม่สามารถติดต่อใครได้ ครอบครัวเองก็ไม่รู้ว่าจะตามอย่างไร”
และเมื่อดำเนินโครงการนี้มาสักระยะหนึ่ง ทางมูลนิธิก็พบกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำคัญ นั่นก็คือ สถานพยาบาล หรือสถานพักพิงมีไม่เพียงพอในการรองรับ จึงเป็นที่มาของแนวคิดสร้างสถานพักพิงให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้
“อันนั้นเป็นโครงการที่เราอยากทำขึ้นมา เพื่อหนุนเสริมช่องว่างบางอย่างที่ภาครัฐมีปัญหา หรือแม้แต่ว่าสร้างให้มันเกิดเป็นโมเดล เกิดเป็นภาพตัวอย่าง เพื่อการขับเคลื่อนในลักษณะของงานสงเคราะห์ งานเติมพื้นที่ทางสวัดิการให้กับกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าระบบ หรือว่าระบบเองไม่อาจสนองตอบรองรับต่อปัญหาของคนกลุ่มนี้ได้”
โดยคุณสิทธิพลได้อธิบายว่า สถานที่ดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีบุคลากรด้านการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมืออย่างครบครัน เพื่อการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากโครงการที่ดำเนินอยู่นั้น ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่รู้สึกหรือคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมากในการทำให้สังคมตระหนัก เห็นถึงความสำคัญ สปริงนิวส์จึงอดสงสัยไม่ได้ว่า คุณสิทธิพล ในฐานะหัวหน้าโครงการ เคยรู้สึกน้อยใจ หรือท้อแท้บ้างหรือไม่ ช่วงที่ต้องประสบความกับสถานการณ์ดังกล่าว
“จริงๆ แล้ว มันไม่ถึงกับน้อยใจ แต่มันมีความเศร้ามากกว่า มันเป็นปัญหาที่สำคัญนะ เรื่องอาการจิตเวชเนี่ย คนที่มีอาการจิตเวชแล้วมาเดินเร่ร่อน คือผู้ป่วย แต่เขาถูกมองจากสังคม หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ป่วย
“ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกหนักใจว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเข้าใจ... เพราะผู้ป่วยไม่ควรอยู่ข้างถนน แต่ควรอยู่ในโรงพยาบาล และได้รับการดูแลรักษา
“...การที่เขาถูกปล่อยปละละเลย มันเป็นเรื่องเศร้านะ เพราะเมื่อเขาไม่ได้รับการดูแล หรือพาไปรักษา ทำให้ชีวิตของเขาแย่ลงเรื่อยๆ มันแย่ขนาดที่ว่า บางคนไปคุ้ยเขี่ยหาของกินในถังขยะ ไปเจอ (กิน) สารหนู แล้วก็เสียชีวิต หรือล่าสุด เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกรถชน ซึ่งมันมีความเสี่ยงหลายกรณีมาก หรือว่าผู้หญิงที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เดินเร่ร่อน ความเสี่ยงในแง่ของการถูกล่วงละเมิดก็มีสูงมาก
“เราจึงรู้สึกว่า เราเศร้าอยู่ลึกๆ เมื่อเห็นเขาถูกทอดทิ้ง เห็นเขาไม่ได้รับการดูแล หรือพาเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างจริงจัง”
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ ลุงผสมสีร ก็จะได้ถูกส่งตัวไปยังสถานพยาบาลเร็วๆ นี้ โดยเราหวังว่า หลังจากได้รับการดูแลและรักษาแล้ว อาการของเขาจะดีขึ้น จนสามารถกลับออกมา เพื่อนำพาเรือชีวิตลำนี้โลดแล่นในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป
ขอบคุณ มูลนิธิกระจกเงา