svasdssvasds

"แพทย์" สงสัยพ่อค้าใช้เมทานอล "ดองคางคก" ชี้ อันตรายถึงชีวิต

"แพทย์" สงสัยพ่อค้าใช้เมทานอล "ดองคางคก" ชี้ อันตรายถึงชีวิต

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างยาดองสูตรพิเศษส่งตรวจ ตั้งข้อสงสัยพ่อค้าใช้ เมทานอล ชนิดที่กินไม่ได้ ดองคางคก แพทย์เตือนอันตรายถึงชีวิต หากนำมาดื่มมีพิษสองเท่า

วันนี้ (21ต.ค.62) นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ชาวบ้าน ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี ดื่มยาดองสูตรพิเศษผสมคางคก จนถูกหามส่งโรงพยาบาลถึง 12 คน ทำให้เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.ชลบุรี ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชาวบ้าน พร้อมเก็บตัวอย่างยาดองคางคกไปตรวจพิสูจน์หาสารพิษปลอมปน เพื่อหาสาเหตุอาการป่วยของชาวบ้าน

 

จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าชาวบ้านทั้ง 12 คน หลังดื่มยาดองคางคกมีอาการ อาเจียนเป็นเลือด ตาฟาง ตาลอย แน่นหน้าอก หมดแรง อาการดังกล่าวนายแพทย์อภิรัต บอกว่า ส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่ดื่มสุราที่มีส่วนผสมของ เมทานอล (methanol) ซึ่งมีพิษร้ายแรงต่อร่างกาย

 

ซึ่งห้ามนำมารับประทานอยู่แล้ว เพราะเป็นพิษต่อระบบประสาท เสี่ยงตาบอดและเสียชีวิต ที่ผ่านมามักจะพบในการผลิตสุราเถื่อน เนื่องจากราคาถูก จึงสันนิษฐานว่า พ่อค้าอาจใช้ เมทานอล มาดองกับ คางคก ซึ่งสัตว์ที่มีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้ กลายเป็นเครื่องดื่มพิษสองเท่า ทั้งนี้ฝากเตือนประชาชนห้ามหลงเชื่อซื้อมาดื่ม

 

ขณะที่ชาวบ้านทั้ง 12 คนยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยที่ 3 คน อาการยังโคม่า นอนอยู่ในห้องไอซียู นอกจากนี้มีรายงานว่าก่อนหน้านี้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาย 1 คน ที่คาดว่าอาจจะดื่มยาดองคางคกด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากญาติผู้เสียชีวิต

 

จากข้อมูล  ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุว่า คางคกเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มีต่อมน้ำเมือกใกล้หู (parotid gland) ซึ่งขับเมือกที่มีสารชีวพิษ ประเภท digitaloids ได้แก่ bufotoxin, aglucones bufagins และ bufotalins ซึ่งมีลักษณะทาง เคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับ digitalis glycosides นอกจากนี้มี alkaloids และสารประกอบอื่นๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคืองเฉพาะที่ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการตามระบบต่างๆได้ สามารถพบสารชีวพิษดังกล่าวนี้ ได้ที่หนังและเลือดของ คางคกทั่วไป (Bufo vulgaris) และคางคกใหญ่ (Bufo agua)

 

อาการเป็นพิษ มักเกิดขึ้นช้าๆ ภายหลังรับประทานคางคกแล้วหลายชั่วโมง เด็กจะสามารถทนต่อพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ เริ่มต้นผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง อาจมีอาการสับสน วิงเวียน เห็นภาพเป็นสีเหลือง ระดับความรู้สติจะเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่สับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาทจนถึงชักและหมดสติ อาการสำคัญคือ หัวใจจะเต้นช้าลง และผิดจังหวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบ atrioven tricular block ระดับต่างๆ ทั้งนี้ขึ้น อยู่กับขนาดของพิษที่ได้รับมี PVC, multiple foci extrasystole หรือ ventricular tachycardia และสุดท้าย จะเป็น ventricular fibrillation ผู้ป่วยจะถึงแก่กรรมจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

การรักษา เช่นเดียวกับการรักษาผู้ป่วยที่รับประทานสารพิษตามมาตรฐานทั่วไป ตรวจระดับเกลือแร่โดย เฉพาะโปแตสเซียมในเลือด ถ้าชีพจรช้า และระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ ให้ฉีด atropine และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องใช้เครื่องกำกับจังหวะการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้อาจใช้ยารักษาและป้องกันการเต้นผิดจังหวะอื่นๆ เช่น lidocaine, diphenylhydantoin, quinidine, amiodarone ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และถ้ามี digitalis FAB antibody อาจทดลองใช้ได้

ขอบคุณข้อมูลทางการแพทย์ :  Ramathibodi Poison Center ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี

 

related