ติดตามข่าวสารwได้ที่ https://www.springnews.co.th
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีปล่อยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ลงน้ำ ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เฝ้าฯ รับเสด็จ
ทั้งนี้ โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เป็นโครงการที่กองทัพเรือขอนุมัติกระทรวงกลาโหม ดำเนินการก่อตั้งขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือมีใช้ราชการ ด้วยการน้อมนำและยึดถือตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีมติให้ใช้แบบเรือของเรือหลวงกระบี่ ที่กองทัพเรือได้ต่อขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา 84 พรรษา เมื่อ 5 ธันวาคม 2554 เป็นแบบพื้นฐานในการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่ พร้อมกับเสนอแนะให้ปรับปรุงข้อบกพร่องในส่วนต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดเรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงกระบี่ เพื่อให้เรือลำใหม่มีคุณลักษณะที่เหมาะสมมากขึ้นในการตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออนุมัติให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เป็นโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
สำหรับคุณลักษณะทั่วไปของเรือนั้น มีความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร กว้าง 13.50 เมตร ความยาวที่แนวน้ำ 83.00 เมตร กินน้ำลึก 3.70 เมตร ระวางขับน้ำไม่น้อยกว่า 1,960 ตัน ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 23 นอต (ที่ Full load) ระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 3,500 ไมล์ทะเล (ที่ความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 นอต) สามารถออกปฏิบัติงานในทะเลอย่างต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 14 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม สามารถปฏิบัติการได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5 (Sea State 5) สามารถตรวจการณ์ และพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้าและเป้าอากาศยานได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน สามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำในระยะพ้นขอบฟ้าได้ด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี สามารถป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิดได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ และสามารถรองรับกำลังพลได้ไม่น้อยกว่า 115 นาย (กำลังพลประจำเรือ 99 นาย และปฏิบัติการทางอากาศ 16 นาย)