โคราชเอาจริง เตรียมตั้งชุดปราบโกงอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ลุยตรวจสอบทั้ง 32 อำเภอ หลังพบโรงเรียน 3 แห่งโกงเงินค่าอาหารกลางวันเด็กโจ่งครึ้ม
ความคืบหน้ากรณี นายกรัฐมนตรี สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนทั่วประเทศ หลังจากสำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 3 ตรวจพบการทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนโรงเรียน 4 แห่งใน จ.นครราชสีมา
ล่าสุด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบ และ วางมาตรการป้องการทุจริตโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ในสังกัดองค์กรปกครองท้องถิ่น กว่า 2 หมื่นแห่ง
โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ระบุว่า หลังมีคำสั่งจากนายกฯ ได้สั่งตั้งกรรมการร่วมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปตรวจสอบตามที่ ป.ป.ช.มีข้อมูล และลงไปพื้นที่สุ่มตรวจให้หมด ทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่ คาดว่าต้องใช้เวลาดำเนินการสักระยะหนึ่ง
นายอานนท์ มฤคศิรมาส แกนนำองค์กรเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ป.ป.ช.เปิดเผยรายชื่อโรงเรียนทั้ง 4 แห่งที่มีการทุจริตอาหารกลางวันเด็กให้กับสาธารณชนรับทราบ และป.ป.ช. ควรจะเอาผิดให้ถึงที่สุด เพราะที่ผ่านมาหลายโครงการที่ ป.ป.ช.ปล่อยปละละเลย ไม่ชี้มูลความผิด อาทิ โครงการสนามฟุตซอล โครงการขุดลอกของ อบจ.นครราชสีมา ที่ไม่มีความคืบหน้าเลย
ส่วนความคืบหน้า กรณีคลิปฉาวอาหารกลางวันเด็กนักเรียนโรงเรียบนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ล่าสุดจากการลงพื้นที่ตรวจสอบยังโรงงานผลิตอาหารกลางวันของ บริษัท ส.รัตนภิญโญ จำกัด ผู้รับจ้างเหมาผลิตอาหารส่งโรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์ และยังผลิตให้อีกหลายโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงผลิตอาหารตามสัญญาจ้างไปตามปกติ โดยผู้ผลิตยืนยันว่า จะผลิตข้าวส่งให้โรงเรียนทุกวันตามปกติตามสัญญา และ ทุกครั้งที่ส่งมอบจะมีการตรวจรับอย่างถูกต้อง
โดยอาหารที่ส่ง มีมากเพียงพอที่จะให้ครูรับประทานไปด้วยกันกับเด็ก ซึ่งนางสุรีย์ รัตนภิญโญ ผู้บริหารบริษัท ส.รัตนภิญโญ ระบุว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนต้องตั้งคำถามกลับไปว่าสาเหตุที่อาหารเด็กไม่เพียงพอเกิดจากการตักแบ่งของคนในโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งต้องมีการสอบสวนในประเด็นนี้ด้วย
รายงานระบุว่า วานนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้เดินทางเข้าไปทั้ง 10 โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดกับโครงการอาหารกลางวันทำการตรวจสอบเปรียบเทียบ โดยมีการตั้งข้อสังเกตความแตกต่างในประเด็นการดำเนินการผลิตอาหารกลางวันของโรงเรียน หลักฐานของคุณภาพการผลิตเอง จนถึงการจ้างเหมา เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตเองไปสู่การจ้างเหมา เกิดขึ้นด้วยเหตุใดเป็นเพราะการมอบนโยบายหรือไม่ และกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างมีที่มาขั้นตอนอย่างไร แม้ผู้เกี่ยวข้องได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเชิงลึกในการสอบสวน แต่ยืนยันว่ามีประเด็นต้องสงสัยที่จะต้องขยายผล