รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม คณะอาชญาวิทยาลัยฯ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเพิ่มบทลงโทษประมวลกฎหมายคดีอาญา แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับผู้ก่อคดีทางเพศ ในการข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ต่อมุมมองในประเด็นดังกล่าว
***มีทัศนะในด้านอาชญาวิทยา ต่อการเพิ่มบทลงโทษคดีข่มขืนอย่างไร?
ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มีการพูดกันมากขึ้นถึงการลงโทษ ผู้กระทำความผิดข่มขืน กระทำชำเรา อย่างไรก็ตาม ด้านอาชญาวิทยามีมุมมองที่กว้างกว่านั้น แน่นอนว่าไม่เกิดเหตุข่มขืนเป็นสิ่งที่ดี แต่ข้อสังเกตการศึกษาในและต่างประเทศระยะยาว พบว่า การเพิ่มบทลงโทษ ไม่ใช่การหยุดยั้งอาชญากร หรือคนที่คิดจะกระทำความผิด แต่เป็นการประกอบกันที่บัญญัติขึ้นมาให้ผู้จะกระทำผิดเกรงกลัว เช่น การลงโทษที่เด็ดขาด รวดเร็ว และแน่นอน หมายความว่า นับจากนี้คนที่ทำผิด ไม่ว่าจะมีอำนาจ เป็นเจ้าของกิจการใหญ่โตก็ตามต่อลูกจ้าง พนักงาน ต้องถูกลงโทษเป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สำคัญต้องไม่ผิดตัว หรือเป็นแพะ จะทำให้คนทำผิดรู้สึกว่า ถ้าถูกจับกุมรวดเร็ว ต้องถูกลงโทษแน่นอน
อีกประการเป็นข้อสังเกตว่าการมีบทลงโทษในความผิดบางประเภท เช่น คดียาเสพติดจะประหารชีวิต แม้แต่ในสิงคโปร์ ก็ตามข้อหาลักลอบนำเข้าจำหน่ายยาเสพติดมีโทษแขวนคอแต่ทราบหรือไม่ว่าผมได้พูดคุยกับตำรวจนักวิจัยของสิงคโปร์ยังพบว่ามีการกระทำผิดยาเสพติดเพราะเห็นว่าบทลงโทษที่รุนแรงในการประหารชีวิต แม้เมืองไทย จะมีคำบอกว่าไม่ประหารจริง ในต่างประเทศประหารชีวิตจริง แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ไม่ปฏิเสธว่าการเพิ่มโทษที่ทำผิดข่มขืน กระทำชำเราแล้ว อาจเป็นคนที่คิดจะทำเกรงกลัวมากขึ้นนั่นก็ใช่แต่การศึกษาอาชญาวิทยาบอกว่าเป็นไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น คนทีกระทำผิดคดีเพศในต่างประเทศ จะมีโปรแกรมบำบัด ฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ หรือพ้นโทษจากเรือนจำแล้ว จะมีมาตรการติดตาม ในการเฝ้าระวังเป็นระบบ เช่น ถ้ากลับไปอยู่ในชุมชน คนในชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่พอจะทราบ ช่วยกันเฝ้าระวังว่า คนๆ นั้นมีงานทำไหม อยู่กับใคร ไปเยี่ยมเขาบ่อยๆ เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ขณะเดียวกันก็เฝ้าระวังด้วย
เรื่องเช่นนี้มี 2 มุม มุมแรก คนกระทำผิด ควรใช่ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไปข่มขืนเขา บางแนวคิดบอกว่า ฉีดยาเลยดีหรือไม่ หรือถูกจองจำตลอดชีวิตไม่ต้องออกมา กับแนวคิดที่สอง อาชญาวิทยา การแก้ไข ฟื้นฟูพฤติกรรมผู้กระทำความผิด เป็นความสำคัญ โดยชี้ว่า คนเราเกิดมาตั้งแต่แรก ไม่มีใครเติบโตขึ้นมาจะไปไล่ข่มขืน หยิบมีดหยิบปืนขึ้นมา อยู่ที่ว่าสภาพแวดล้อมการเจริญเติบโต ทำให้คนๆหนึ่งมีพฤติกรรมเหล่านี้ได้ มุมมองอาชญาวิทยาจะดูหลายๆ องค์ประกอบเข้าด้วยกัน นอกเหนือจากด้านกฎหมาย บทลงโทษ
*** ในต่างประเทศที่มีโปรแกรมติดตามผู้พ้นโทษ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร?
จากการศึกษาติดตามต่อเนื่องพบว่าผู้ทำผิดคดีข่มขืนเมื่อพ้นโทษออกมามีการเฝ้าระวังแบบแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพทำให้คนคิดจะทำผิดข่มขืนซ้ำเกรงกลัวรู้ว่าตัวเองถูกจับตามองจากภาคประชาสังคมคนในชุมชนไม่ได้หมายความว่าไม่ให้โอกาสเขาแต่บางอาชีพต้องถูกจำกัดเช่นการขับรถรับจ้างสาธารณะลักษณะอาชีพเช่นนี้ไม่อนุญาตให้ทำ
จุดนี้หรือไม่ที่สังคมไทยต้องมาเพิ่มความระมัดระวังให้เป็นระบบมากขึ้นเป็นรูปธรรมในระบบตรวจสอบที่ชัดเจนหากระบบตรวจสอบรัดกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการสุ่มติดตามคนเคยทำผิดรู้ว่าถูกจับตาจะทำให้เขากลัวว่าทำผิดปุ๊บจะถูกจับกุมได้แน่นอนวิชาการบอกว่าเหล่านี้ทำให้คนเกรงกลัวยิ่งกว่า
*** จะเกิดระบบเช่นนี้ในประเทศไทยได้หรือไม่?
เป็นเรื่องที่ดีที่มีการพูดคุยกันบ่อยๆเสนอกันซ้ำๆถี่ๆเหมือนข่าวข่มขืนนำเสนอในสื่อจนมีการผลักดันแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องเพื่อคนรุ่นเราทำให้รุ่นลูกหลานจะได้อยู่กันดีขึ้น
แต่ระยะยาว การศึกษาของต่างประเทศ เพิ่มบทลงโทษ ไม่ใช่การหยุดยั้งผู้กระทำผิด เช่นคดียาเสพติดในประเทศไทย ยังปรากฎว่า ระยะ 5-10 ปี คดียาเสพติดจับกุมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีคนและเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากขึ้น เป็นที่น่าสนใจ แสดงว่ามีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง มีการสร้างโอกาส กระจายทรัพยากรเสมอภาคกันหรือไม่ ให้โอกาสการศึกษา ต้องใช้องค์ประกอบเข้าด้วยกัน
*** ประเทศที่ใช้วิธีลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน มีผลอย่างไร?
การที่บอกว่าเมืองไทยไม่มีโทษประหารชีวิต เป็นแนวคิดที่ว่าเราไม่ได้กระทำจริงจัง ไม่มีการฉีดยา ไม่เสียชีวิตจริง คนไม่เกรงกลัว ไม่กลัวความผิด เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น มีการบังคับโทษอย่างจริงจัง แต่ทำไมในฐานความผิดบังคับโทษประหารชีวิต ก็ยังมีคนกระทำผิดอยู่ เป็นเรื่องน่าคิด
อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดร่วมกัน จะทำอย่างไร เมื่อกฎหมายมีการเพิ่มโทษแล้ว นับจากนี้ ต้องประเมินนับจากนี้ 1 ปีผู้กระทำผิดลดจำนวนลงหรือไม่และมีข้อสังเกตประการหนึ่งคดีข่มขืนกระทำชำเรา หรืออนาจาร หลายกรณี ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความโดยกลัวความอับอายทางสถานภาพทางสังคมเสียชื่อเสียงกลัวคนรักบอกเลิกปฏิเสธมีเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น สามีรู้ว่า ภรรยาถูกข่มขืน จุดนี้หน่วยงานรัฐต้องรับโจทย์มาคิดกันต่อ ให้เหตุเหล่านี้ลดลง
ทุกสังคมประสบปัญหาเหมือนกัน ประเทศพัฒนาแล้วก็มีคดีข่มขืน ไม่ว่ายุโรป อเมริกา คดีข่มขืนเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าเขามีระบบบริหารจัดการที่แตกต่างกัน เช่น มีเทคโนโลยีมาใช้กำกับในชีวิตประจำวัน เช่น กล้องวงจรปิด ใช้อิเล็กทรอนิกสืติดตามตัวในกรณีคุมความประพฤติ ถ้ากระทำผิดซ้ำ ก็ใช้เจ้าหน้าที่ ไปเยี่ยมถึงบ้านรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนบ่อยๆ ผู้นำชุมชน การจัดทำระบบฐานข้อมูล Big data คือสิ่งที่เราต้องพูดคุยกันต่อเนื่อง