โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา จะจัดนิทรรศการ 100 ปี บูรพาจารย์ สืบปณิธาน "สร้างคนดี" ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ อาคารอุบล เรียงสุวรรณ
โดยพิธีจะเริ่มในเวลา 08.00 น. โดยผู้อำนวยการกล่าวรายงาน ต่อด้วยประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน ก่อนที่ในเวลา 08.30 น.จะเป็นการเปิดให้เข้าชมนิทรรศการ จากนั้นเวลา 10.00 น. จะมีการประกอบพิธีสงฆ์โดยพร้อมเพรียงกัน ณ อาคารคณะศึกษาศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกันที่ห้องกิจกรรม อาคารคณะศึกษาศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
สำหรับประวัติ ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ นั้น
เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2461 ณ ตำบลสำเพ็ง อ.สัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เป็นบุตรีคนโตและคนเดียวของนายสิทธิ์ และนางสุภาพ ปภาวสิทธิ ซึ่งเป็นคหบดีและคหปตานีในย่านนั้น ในวัยเยาว์ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนในละแวกบ้าน ได้แก่ โรงเรียนราษฎร์เจริญ และจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จากโรงเรียนสายปัญญา เมื่อ พ.ศ. 2477
ในระดับอุดมศึกษา ชั้นแรก ศาสตราจารย์ ดร. อุบล สำเร็จได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2482 แล้วศึกษาวิชาครูต่อในคณะครุศาสตร์อีก 1 ปี ก็สำเร็จประโยควิชาครูมัธยม (ป.ม.) หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูสอนที่โรงเรียนศึกษานารี เป็นครูใหญ่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครราชสีมา และโรงเรียนสตรีพัทลุง โสภณพัทลุงกูล ระหว่างปลาย พ.ศ. 2483 ถึงต้น พ.ศ. 2495 ต่อจากนั้นย้ายไปสังกัดกรมวิสามัญศึกษา เป็นศึกษานิเทศก์ พ.ศ. 2497 ศึกษาต่อวิชาครูประถมที่คณะครุศาสตร์ ได้ปริญญาครุศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) อีกปริญญาหนึ่ง ก่อนจะได้รับทุนของกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาระดับปริญญาโทและเอกสาขาการประถมศึกษา ณ University ofNorthern Colorado ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2498 - 2502 เมื่อสำเร็จการศึกษากลับมาแล้วได้โอนย้ายไปสังกัดคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์เมื่อพ.ศ. 2506 และอีกเพียง 4 ปีต่อมาท่านก็ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์
ระหว่าง พ.ศ. 2508 - ต้น พ.ศ. 2514 ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ได้โอนย้ายมาสังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2514 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากครบวาระใน พ.ศ. 2518 แล้วท่านก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษารองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ จนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2522
ชีวิตส่วนตัว ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ สมรสและมีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 2 คน
ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ได้เรียนข้ามชั้น เมื่อสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศก็สอบได้เป็นที่ 1 เป็น ผู้นำ ที่สามารถทั้งในชีวิตส่วนตัวและในหน้าที่การงาน อุทิศตนให้แก่การทำงานเพื่อส่วนรวมตลอดชีวิต เป็นกัลยาณมิตรกับเพื่อนร่วมงาน เป็นกันเอง ให้คำแนะนำช่วยเหลือ และได้ทำให้ เพื่อนร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อ่อนอาวุโสกว่ารู้ซึ้งถึง ความเป็นครู และเห็นเป็นตัวอย่างตามคำที่ท่านกล่าวเสมอว่า การเข้ารับราชการเป็นการเข้าทำงานตามวิชาชีพและเป็นลูกจ้างของราชการ (ด้วยภาษีของประชาชน) ต้องทำงานเต็มสติกำลังความสามารถเพื่องานจะได้สำเร็จและตนเองก็จะเจริญด้วยหน้าที่การงาน …ชีวิตนี้อุทิศให้งานนั้น… ผู้ที่มีโอกาสได้ทำงานกับท่านตระหนักว่าเป็น โชคดี…ที่ได้เห็นกับตาและได้ทำกับมือและได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการปฏิบัติจริงมาตั้งแต่ต้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาจึงเป็นต้นทุนการทำงานที่แต่ละคนได้รับมา เมื่อเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจึงสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหางานหลวงหรือเรื่องส่วนตัว
ในฐานะผู้ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ได้วางรากฐานจัดการศึกษาวิชาชีพศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้มีความแตกต่างกับสถาบันผลิตครูอื่น ๆ ในประเทศไทย คือมุ่งผลิตเฉพาะครูในสาขาที่เด่นและเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้น ความคิดสร้างสรรค์ทางการศึกษาของท่านฉายแววให้เห็นตั้งแต่ครั้งที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว นั่นคือท่านดำริให้ขยายชั้นเรียนโรงเรียนแห่งนั้นขึ้นไปถึงมัธยม 8 แม้ว่าในสมัยที่สังคมไทยยังเห็นว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเรียนสูงๆ ก็ตาม
ในบรรดากิจการงานทั้งปวง ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ภารกิจเด่นที่สุดดูเหมือนจะเป็นการก่อตั้ง โรงเรียนสาธิต ให้เป็นห้องปฏิบัติการของนิสิตครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ลูกๆ ของศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตเกษตรฯ คือความภาคภูมิใจที่สุดของแม่ นั่นเป็นเพราะท่านได้ทำตั้งแต่ ขัดถูและปรับเปลี่ยนอาคารเก่า ลงมือสร้างอาคารใหม่จริงๆ กับเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงวางระบบระเบียบบริหาร วิชาการ การจัดการให้แก่โรงเรียน และเป็นเพราะท่านย่อมตระหนักดีว่าการก่อตั้งโรงเรียนสำเร็จลงได้ในท่ามกลางความขัดข้องนานัปการด้วยความไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา และความรักความศรัทธาที่เพื่อน ผู้ใต้บังคับบัญชา และลูกศิษย์ลูกหามีต่อ แม่งาน คือตัวท่าน
การวางแผนงานและการตัดสินใจทุกขั้นตอนอย่างฉับพลันและเฉียบขาดของศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ทำให้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในวันแรกเปิดเรียนเมื่อภาคต้น ปีการศึกษา 2513 มีความพร้อม …เหมือนโรงเรียนที่ได้ทำการมานานแล้ว
ท่านขอให้อาจารย์เปรื่อง เปลี่ยนสายสืบ แห่งคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้ออกแบบเครื่องแบบนักเรียนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ และด้วยเหตุที่ท่านเกิดวันเสาร์ ท่านชอบสีม่วงมาก ท่านจึงขอให้ใช้สีม่วงเป็นสีกระโปรงนักเรียนและได้กำหนดใช้เป็นสีประจำโรงเรียนต่อมา นี่คือที่มาของ สาธิตกระโปรงม่วง
ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ เป็นผู้ริเริ่มในการเปิดสอนหลักสูตร ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในหลายสาขา โดยเฉพาะหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตทางการสอน (Master of Arts in Teaching) ได้เปิดสอนในปี 2519 รวม 5 สาขา คือ สาขาการสอนคณิตศาสตร์ การสอนวิทยาศาสตร์ การสอนภาษาไทย การสอนภาษาอังกฤษ และการสอนสังคมศึกษา และต่อมาในปี 2520 ได้เปิดเพิ่มอีก2สาขา คือ สาขาการสอนภาษาฝรั่งเศส และจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว ได้ผลิตมหาบัณฑิตไปทำหน้าที่อาจารย์และผู้บริหารในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆปีละหลายร้อยคน
นอกจากงานวางรากฐานก่อสร้างอาคารสำนักงาน อาคารเรียนทั้งส่วนของคณะศึกษาศาสตร์และโรงเรียนสาธิต ด้วยการจัดหางบประมาณมาสนับสนุนได้จำนวนมากแล้ว ในส่วนการบริหารงานบุคคล ก็มี ความสำคัญยิ่ง ศาสตราจารย์ อุบล เรียงสุวรรณได้สรรหาและโอนบุคลากรจากกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาปฏิบัติงานในการสร้างคณะและโรงเรียนให้เพียงพอกับจำนวนนิสิตและนักเรียนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งวางแผนขออัตรากำลังจาก ก.ม. และสำนักงบประมาณได้แต่ละปีมากกว่าคณะอื่นๆในมหาวิทยาลัย
ในส่วนคุณภาพของอาจารย์ในคณะและโรงเรียน ก็ได้ส่งเสริมสนับสนุนและจัดหารทุนให้อาจารย์ได้ไปศึกษาต่อในวุฒิที่สูงขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีอาจารย์ที่มีคุณวุฒิมาช่วยจัดการศึกษาได้มากขึ้น
เมื่อศาสตราจารย์ ดร อุบล เรียงสุวรรณ ปฏิบัติงานเป็นที่ปรึกษาของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล)ได้ช่วยวางระบบการพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยโดยเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยจัดให้มีการสัมมนา ประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมและการดูงาน ให้อาจารย์และผู้บริหารของทุกคณะของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดและประเมินผลการศึกษา
ในด้านมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทบวงมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งให้ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณเป็นประธานกรรมการจัดสร้างแบบทดสอบสัมฤทธิผลเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (พ.ศ.2520 - 2522) เป็นประธานกรรมการจัดปฐมนิเทศและการออกข้อสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษา
ความสามารถในฐานะนักการศึกษาของศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ ทำให้ท่านได้รับยกย่องจากUniversity of Northern Colorado ว่าเป็น ศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิดีเด่น ได้รับเชิญให้ไปรับรางวัล International Recognition Award ณ สถาบันการศึกษาแห่งนั้นในโอกาสวันคืนสู่เหย้าประจำปีของมหาวิทยาลัยในเดือนตุลาคม 2513 ท่านเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และท่านได้รับรางวัลนี้ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และอยู่ในช่วงก่อตั้งโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้งและวางแนวการสอนด้วยวิธีแปลกใหม่ไม่เหมือนใครขึ้น ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดียิ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมไทย
นอกจากรางวัลดังกล่าวแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ ยังได้รับการยกย่องในวาระอื่นๆ อีกเช่น เมื่อ พ.ศ2526 ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศึกษาศาสตร์- การสอน จากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พ.ศ2537 ได้รับพระราชทานรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ สาขาแม่ผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม และท่านเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการ AACTE (American Association Committee for Teacher Education)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดที่ได้รับคือ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (พ.ศ.2520)
ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2541 ณ โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร กล่าวไว้ว่า ...ศาสตราจารย์อุบล เรียงสุวรรณ ไม่ทำให้มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ผิดหวังเลย…ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตของเรามีชื่อเสียงดีมาก ก็ต้องขอขอบพระคุณ ศ.อุบล ที่ได้วางรากฐานไว้ดี
ต่อมาคุรุสภาได้บันทึกประวัติและผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร. อุบล เรียงสุวรรณ ในฐานะผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์แก่การศึกษาของชาติไว้ในหนังสือ ประวัติครู จัดพิมพ์เผยแพร่ในวันครู (10 มกราคม 2543)
ที่มา : อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.อุบล เรียงสุวรรณ
อุบล เรียงสุวรรณ . สมุดประวิติประจำตัวข้าราชการ กระทรวงธรรมการ,2483.