svasdssvasds

โดน! อีก1 ยี่ห้อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง

โดน! อีก1 ยี่ห้อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง

อย. เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” โฆษณารักษาโรคทางตาผ่านทางสื่อต่าง ๆ และใช้บุคคลมีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พบเป็นการโฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง และ อย. ได้ดำเนินคดีทางกฎหมายแล้ว

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่าง ๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา นั้น อย. ห่วงใยผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางตา เกรงหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าว ทำให้ขาดการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกิดความเสี่ยงได้ ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค

โดน! อีก1 ยี่ห้อ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโฆษณาเกินจริง

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนอกจากจะต้องขอ เลขสารบบอาหาร หรือที่เข้าใจกันทั่วไปว่า เลข อย. ของตัวผลิตภัณฑ์แล้ว หากประสงค์จะโฆษณาจะต้องขออนุญาตโฆษณาด้วย อย่างไรก็ตาม อย. จะไม่อนุญาตให้โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะในทางรักษาโรคเด็ดขาด ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ ซึ่งเป็นองค์กรทางการแพทย์ ได้ทำการค้นหาหลักฐานทางวิชาการแล้วพบว่า ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใด ๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” สามารถรักษาโรคทางตาได้ และขอยืนยันว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวใดมีสรรพคุณรักษาโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา 

ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตา โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อไปใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งไม่มีสรรพคุณในการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาจทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น สูญเสียการมองเห็นก็เป็นได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ อย. ได้แจ้งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป ซึ่งการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดทางกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการโฆษณาสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน ปี หรือปรับ   ไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

related