การเป็นบุคคลธรรมดา คือพื้นที่สุดท้ายของศิลปิน จากเหตุการณ์น่าสลดใจที่ Amy Winehouse ถูกผลักไสให้ขึ้นเวทีทั้งที่สภาพไม่พร้อม เหมือนกับ DJ Avicii ที่ถูกธุรกิจดนตรียึดเวลาพักผ่อนไปหมดสิ้น นี่คือ 2 ตัวอย่างของศิลปินที่ถูกความโด่งดังทำร้ายและถูกบันทึกไว้ในรูปแบบภาพยนตร์
DJ Avicii ศิลปิน EDM ชั้นแนวหน้าเจ้าของเพลงฮิตอย่าง “Level” “Wake Me Up” ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยวัยเพียง 28 ปี เมื่อเมษายน 2018 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงความตายที่กำลังคืบคลานมาหาตัวเองในภาพยนตร์ชีวประวัติ “Avicii: True Stories” ออกอากาศเมื่อปี 2017 ที่ถ่ายทอดชีวิตเบื้องหลังการทำงานอย่างบ้าคลั่ง จนเป็นเหตุให้เขาตัดสินใจประกาศอำลาวงการเพลงในปี 2016 เนื่องด้วยสุขภาพทรุดโทรมอย่างต่อเนื่อง
https://www.youtube.com/watch?v=1ZFK3VKzQIs
เสียงของคนดูโห่ร้องก้องดังกว่าเสียงดนตรี เมื่อ Amy Winehouse นักร้องสาวแนว Jazz เจ้าของเพลงดัง “Rehab” ถูกคนรอบตัวกดดันให้ทำการแสดงครั้งแล้วครั้งเล่าโดยต่างรู้ดีว่าเธอมีปัญหาสารเสพติด จำเป็นต้องได้รับการบำบััด กระทั่งในคืนเปิดการแสดงทัวร์ที่ เมืองเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย เธอมึนเมาอย่างหนัก หมดเวลาไปกับการเดินไปมาบนเวที บ่นพึมพำออกไมค์แทนการร้องเพลง นั่นเป็นการแสดงครั้งสุดท้าย ก่อนเธอจะเสียชีวิตลงในเดือนถัดมาเมื่อปี 2011 ด้วยวัย 27 ปี จากแอกอฮอล์เป็นพิษ และเบื้องหลังอันน่าเศร้า ถูกบันทึกและเผยแพร่เมื่อปี 2015 ใน “Amy” ภาพยนตร์ชีวประวัติของ Amy Winehouse
Photo Credit: Daily Beast
https://www.youtube.com/watch?v=_2yCIwmNuLE
แม้ทั้งคู่จะมีจุดจบที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็ได้ร่วมประสบการณ์อันโหดร้ายของเส้นทางศิลปินที่มีธุรกิจเป็นตัวกำหนดโชคชะตา
ชื่อเสียง เงินทอง ความหรูหราเบื้องหน้า มาพร้อมกับตารางงานทัวร์มหาภัยที่คอยบั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส รวมทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตที่ละเลยความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์: ช่วงเวลาการนอนการกิน ต้องแยกห่างจากครอบครัวและมิตรสหาย ขาดความเป็นส่วนตัว แวดล้อมด้วยเหล้ายาปลาปิ้งมากมาย และแรงกดดันที่ต้องทำการแสดงต่อหน้าคนหมู่มาก เป็นหายนะที่ผสมผสานกันในทุกๆ ด้าน
หน่วยงานช่วยเหลือนักดนตรีสหราชอาณาจักรเพื่อการกุศล หรือ Help Musician UK ได้เผยรายงานผลการวิจัยในปี 2016 พบว่า 69% จากการสำรวจนักดนตรี 2,211 คนประสบกับภาวะซึมเศร้า ในขณะที่ 71% มีอาการตื่นตระหนกและความวิตกกังวลในระดับสูง ซึ่งคนทำงานในแวดวงดนตรีมีโอกาสเจอกับภาวะซึมเศร้ามากกว่าสาธารณะชนคนทั่วไปถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
นี่เป็นกรณีตัวอย่างศิลปินที่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจดนตรี หรือถึงคราวที่วงการเพลงต้องหันมาใส่ใจและหาทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเช่นนี้อีก....
ขอขอบคุณ: Junkee
Help Musician UK