นักวิจัยไทยใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนพบ “เห็ดเยื่อไผ่” อุดมไปด้วยสารมีคุณประโยชน์ ทั้งสารต้านอนุมูลอิสระยับยั้งมะเร็ง ป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ลดริ้วรอย และนำมาผลิตยาโด๊ปได้ พร้อมเร่งต่อยอดงานวิจัยผลิตอาหารเสริมและเวชสำอาง คาด 1 ปี คนไทยได้ใช้แน่
วรวิกัลยา เกียรติ์พงษ์ลาภ นักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ทางสถาบันร่วมกับสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ได้ศึกษาองค์ประกอบและสารสำคัญของเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์กระโปรงยาวสีขาว เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์
โดยเห็ดเหยื่อไผ่มีคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยามากมาย ซึ่งในส่วนปลอกหุ้มดอกและหมวกดอกจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูง สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่นได้หลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน เป็นต้น ส่วนเมือกหุ้มดอกเห็ด มีลักษณะเป็นเจลเข้มข้นที่อุดมไปด้วยกรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) และอัลลันโทอิน (Allantoin) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการระคายเคืองของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นฟื้นฟูเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ โดยสารอัลลันโทอินจากเห็ดเยื่อไผ่นี้เป็นสารชนิดเดียวกับที่พบในเมือกหอยทาก แต่จะมีความบริสุทธิ์และสามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อยู่ในปริมาณสูงและพบสารสำคัญที่สามารถนำไปทำยาโด๊ปได้อีกด้วย
พร้อมกันนี้จะนำเห็ดเหยื่อไผ่ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในวงการอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม รวมถึงวงการผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่สามารถพัฒนาให้มีคุณสมบัติทัดเทียมกับเยื่อเมือกหอยทาก
ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้เพาะเลี้ยงเห็ดเยื้อไผ่เพื่อเป็นต้นแบบ และเตรียมสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่แห่งประเทศไทย และจะนำเสนอต่อ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่จะทำแปลงเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ให้มีผลผลิตสูง และคาดว่าใน 1 ปีจะมีผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่ออกมาอย่างแน่นอน