เชอร์โนบิล พื้นที่ที่เคยเหตุเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดเมื่อ 32 ปี ที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติอยากไปเยือน แม้ว่าอาจจะยังคงมีสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายก็ตาม
เชอร์โนบิล เป็นสถานที่ที่เกิดโศกนาฏกรรมจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก เมื่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดในวันที่ 26 เมษายน ปีค.ศ. 1986 ที่ประเทศยูเครน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิตจำนวน 31 คน มีผู้บาดเจ็บทางกัมมันตรังสี 203 คน ยิ่งไปกว่านั้นสารกัมมันตรังสี ที่ลอยปนเปื้อนในน้ำและอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้นนับแสนคน และมีการอพยพคนออก ทำให้เชอร์โนบิลกลายเป็นพื้นที่ร้าง โดยพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตรรอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
ปัจจุบัน ผ่านมาราว 32 ปีแล้ว เชอร์โนบิล กลับกลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดให้ผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมาเยือน โดยในปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่แห่งนี้ราว 50,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และนักท่องเที่ยวราว 70 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ แม้ว่ากัมมันตภาพรังสีอาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ที่เข้าใกล้เตาปฏิกรณ์ก็ตาม
ด้านนายวิกเตอร์ คาร์เชนโก้ เจ้าของบริษัททัวร์ท่องเที่ยวเชอร์โนบิล ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2012 เปิดเผยว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นหลังปี 2016 ซึ่งมีการจัดงานครบรอบ 30 ปี และในปีนั้นเอง มีการสร้างโดมเหล็กขนาดใหญ่รอบเตาปฏิกรณ์ เพื่อลดการรั่วไหลของกัมตภาพรังสีที่อาจแพร่ไปในอากาศ จึงเป็นการลดความหวาดกลัวของนักท่องเที่ยว และทำให้นักท่องเที่ยวกล้ามาสัมผัสบรรยากาศที่เชอร์โนบิลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางคนยังคงรู้สึกกลัวว่าจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสี เพราะเคยได้ยินมาว่า อาจส่งผลต่อร่างกายหลังจากได้รับสารอีกหลายปี ทั้งนี้ ก่อนที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะเดินทางออกจากเชอร์โนบิล จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีกัมมันตภาพรังสีติดตัวอยู่หรือไม่ โดยใช้เครื่องตรวจวัดขนาดใหญ่ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของพวกเขาสะอาดแล้ว