svasdssvasds

เกษียณอายุ 63 ปี ยังแค่ “พิมพ์เขียว” แผนปฏิรูปสังคม

เกษียณอายุ 63 ปี ยังแค่ “พิมพ์เขียว” แผนปฏิรูปสังคม

จากข้อความที่ส่งต่อและแชร์กันในสังคมโซเชียลว่า “...เกษียณอายุราชการ 63 ปีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุเมื่ออายุ 63 ปี ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2561 แต่กว่าจะถึงปี 2567....”

เรื่องนี้ถือเป็นความเข้าใจสับสน  ทำให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงถึงแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่เสนอให้ขยายอายุเกษียณอายุราชการจาก 60 ปีเป็น 63 ปีว่า เป็นเพียงข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะต้องดำเนินการภายใน 6 ปี ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สามารถทบทวนได้และยังเหลือขั้นตอนอีกมาก เพราะตามแผนปฏิรูปกำหนดให้สำนักงาน ข้าราชการพลเรือน (กพ.)และสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)จะต้องเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของตำแหน่งราชการที่สมควรได้ขยายอายุเกษียนราชการ จึงไม่ใช่ทุกตำแหน่งที่จะได้ขยายอายุเกษียณราชการ จากนั้นต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ ดังนั้นยังมีเวลาอีกนานที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

 

ข้อสับสนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังให้สัมภาษณ์ว่า แนวคิดขยายอายุเกษียณราชการนั้น เป็นการต่ออายุผู้สูงอายุให้ทำงานในสาขาที่ขาดแคลน เช่น แพทย์ นักวิชาการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ แต่ไม่ใช่การต่ออายุราชการ หลักการสำคัญคือ ขยายอายุเกษียณสำหรับคนมีสมรรถภาพ สามารถทำงานต่อในตำแหน่งที่ปรึกษา หรือผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้เป็นเพียงการเสนอตามขั้นตอน รัฐบาลยังต้องคัดกรองและตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือไม่ ยอมรับมีบางข้อเสนอไม่สามารถทำได้ ส่วนการตั้งหน่วยงานใหม่ตามข้อเสนอกว่า 30 กรมนั้น ยืนยันจัดตั้งไม่ได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นต้องใช้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท

เกษียณอายุ 63 ปี ยังแค่ “พิมพ์เขียว” แผนปฏิรูปสังคม