คนไทยเป็นวัณโรคมากกว่าชาวเมียนมา ปี 61 พบผู้ติดเชื้อ 123 ราย แยกเป็นคนไทย 71 ราย สัญชาติเมียนมา 52 ราย โรงพยาบาลแม่สอดใช้กลยุทธ์วิธีการรักษาเชิงรุก หลังวิธีการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะปัญหาดื้อยา พบเจ้าหน้าที่ติดเชื้อวัณโรค 3 ราย
วันนี้( 2 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรควัณโรค ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างปี พ. ศ. 2555 ถึงพ. ศ. 2560 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคไปรักษากับทางโรงพยาบาลแม่สอด จำนวน 500 ราย พบเป็นบุคคลต่างชาติ ( แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ) มากกว่าคนไทย และในปี พ.ศ. 2559 พบว่าคนไทยมากกว่าต่างชาติ ซึ่งส่วนมากเป็นชาวเมียนมา ส่วนการรักษาพบว่า อัตราการหายจากโรควัณโรค มีประมาณร้อยละ 80 แต่คนไทยมักเสียชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ส่วนปัญหาของคนต่างด้าวคือ การขาดยา เนื่องจากไม่ยอมทานยา เพราะเมื่อทานไปแล้วรู้สึกทรมานจึงไม่ยอมทาน ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2561 พบผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคอีก 123 ราย แยกเป็นคนไทย 71 ราย เป็นชาวเมียนม่า 52 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยดื้อยา 2 ราย นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัญโรค เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่สอด อีก 3 ราย จากปีที่ผ่านมา พบ 12 ราย
นายแพทย์ธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลแม่สอดได้เริ่มกำหนดกลยุทธ์ในการรักษาเพื่อ ลดปัญหาการขาดยา กำหนดให้ผู้ป่วยมาทานยาต่อหน้าแพทย์ที่รักษา หรือพยาบาล, จัดเจ้าหน้าที่นำยาไปบริการถึงที่บ้าน และให้ทานยาต่อหน้า แต่ก็มีอีกปัญหาหนึ่งคือปัญหาการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา หรือแรงงานที่ผ่านระบบเอ็มโอยู ถือหนังสือเดินทาง หรือ พาสปอตแรงงานเข้ามา โดยไม่ผ่านการตรวจสุขภาพโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่่ ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ถือหนังสือเดินทางเข้ามา ก็สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ชายแดนเข้าไปยังจังหวัดชั้นในของประเทศไทยได้ทันที แม้ว่ามีการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาลในต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพฯ แล้วก็ตาม เมื่อตรวจพบโรควัณโรค หรือโรคอื่นๆ ก็ไม่มั่นใจว่าจะมีการรักษาต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร จึงมีข้อเสนอแนะ อยากให้แรงงานที่เข้ามาในระบบ MOU ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ควรที่จะตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลในพื้นที่ และได้รับการรักษาให้หายขาดก่อน ที่จะเดินทางเข้าไปทำงานพื้นที่ชั้นในจะดีที่สุด และเมื่อไปทำงานในพื้นที่ชั้นในแล้ว สามารถตรวจสุขภาพในพื้นที่ชั้นในได้ตลอด