ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th
กระทรวงพาณิชย์ กำหนดนโยบายควบคุมราคาปีนี้ พร้อมขึ้นบัญชีควบคุมทันที หากพบการฉวยขึ้นราคาสินค้า
วันที่ 21 ม.ค.61 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 2.6% ในปี 2561 ส่งผลทางตรงต่อต้นทุนภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพิ่มขึ้น 0.5% ของต้นทุนรวม โดยธุรกิจที่ใช้แรงงานมากและอ้างอิงการจ่ายค่าจ้างจากค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ค้าปลีกค้าส่ง ร้านอาหาร ก่อสร้าง
ในขณะที่กรมการค้าในประเทศ ออกมายืนยันตลอดถึงการควบคุมดูแลราคาสินค้า โดยในปี 2561 ได้กำหนดนโยบายกำกับดูแลราคาสินค้า โดยกำหนดให้เพิ่มสินค้าควบคุมอีก 6 รายการ เป็น 53 รายการ เช่น น้ำมันพืช นมผง ปุ๋ย ผงซักฟอก
และสินค้าที่ไม่ใช้รายการควบคุม แต่ถ้าราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก หรือ มีความผันผวน สามารถกำหนดเป็นสินค้าควบคุมเพิ่มได้ และกรมการค้าภายในจะออกมาตรการตามกฎหมายออกมาควบคุมดูแล รวมทั้งจะมีมาตรการติดตามดูแลสินค้า 205 รายการ อย่างใกล้ชิดเพื่อหาราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน และขอความร่วมมือไม่ให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน บอกว่า หากผู้บริโภคเจอราคาสินค้าที่ฉวยโอกาสปรับขึ้น ให้ร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจ ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
และในวันพุธที่ 24 ม.ค.นี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เชิญผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ และภาคเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรม มาหารือในประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 5-22 บาทต่อวัน ว่า มีความเห็นตรงกับผลการคำนวณของกรมการค้าภายในหรือไม่ และผู้ประกอบการมีความเห็นเพิ่มเติมว่าอย่างไร
เบื้องต้น กรมการค้าภายใน เห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคเล็กน้อย เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในการผลิตและ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะมีผล 1 เมษายน 2561 ดังนั้น ช่วงเวลาก่อนมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการไม่ควรฉวยโอกาสใช้การขึ้นค่าแรง ปรับขึ้นราคาสินค้า แต่ถ้าสินค้าใดมีเหตุผลขอปรับขึ้นก็แจ้งมาที่กรมฯ ได้ แต่ขณะนี้ไม่มีสินค้าใดแจ้งขอปรับขึ้นราคาสินค้ามา