ทางออกนอกตำราฉบับนี้ขออนุญาตพาท่านทั้งหลายไปติดตาม “เรื่องเล็กในสังคม” แต่กลายเป็นเรื่อง “ในแวดวงคนมีสตางค์” โดยต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเรื่อง “ปัญหาการนำเข้ารถยนต์หรู” ปรากฏขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ไม่ได้รับรถยนต์ หรือยังไม่ได้รับเงินคืนจากกรณีคดีทุจริตเลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรู ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)กว่า 1,000 คันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาในหลายประเด็น
เพราะ 1. ปัญหาวิบากกรรมการนำเข้ารถหรูนั้นเกี่ยวพันกับผู้ประกอบการ ที่มีเป็นตัวแทนบริษัทโดยตรงกับผู้แทนที่นำเข้า จึงต้องสร้างความเป็นธรรม เพราะต้นทุนต่างกัน
2. ต้องดูแลผู้บริโภค ผู้ที่ซื้อไปแล้วทั้งที่รู้ว่า ไม่ถูกกฎหมายจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง ต้องไปทำให้ถูกกฎหมาย กับกรณีที่ซื้อรถยนต์มือ 2 มือ 3 มือ 4 ที่ไม่รู้ว่ามือ 1 ซื้อมาถูกกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงต้องระมัดระวังในการซื้อของเหล่านี้ ต้องทำให้ถูกต้อง การเสียภาษีต้องให้ตรงกับรุ่นและรถ
นายกฯยังพูดลึกลงไปในทางนโยบายที่ชัดเจนว่า “เรื่องการนำเข้ารถหรูในประเทศไทย ยังมีสิ่งที่จำเป็นคือการปลดล็อกต่างๆ ให้ได้ตามกฎหมาย เพื่อทำให้ธุรกิจนี้เดินหน้าต่อไปได้ เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั้งหมด เพราะวันนี้ทราบว่า มีรถยนต์นำเข้าจำนวนมากที่ติดปัญหาในเรื่องนี้อยู่ จะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะเก็บภาษีอย่างไร จึงจะทำให้รัฐบาลได้เงินและภาษีจากตรงนี้มากพอสมควร และผู้บริโภคก็จะสบายใจ และต้องไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้กับใคร”
หลายคนมึนตึ้บว่า ทำไมเรื่องปัญหาการนำเข้ารถยนต์หรูมาจำหน่ายในประเทศไทย จึงต้องถึงมือ “นายกฯลุงตู่และหัวหน้าคสช.”
คำตอบคือ เรื่องการนำเข้ารถยนต์หรู มันเป็นปัญหาระดับชาตินะสิพี่น้อง...555
ผมขอจำแนกเรื่องนี้ออกเป็น 2 ประเด็น เพื่อให้เห็นปมที่บรรดาเศรษฐีคนมีสตางค์สะดุ้งสะเทือน จนต้องออกมากดดันให้มีการแก้ปัญหาไปถึงรัฐบาล...
ปมแรก ว่าด้วยเรื่องของการสำแดงภาษีอันเป็นเท็จ หรือแจ้งภาษีรถยนต์หรูที่นำเข้าจากต่างประเทศที่ตํ่ากว่าความเป็นจริง ข้อมูลที่มีการสอบสวนกันอยู่ในชั้นของกรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และป.ป.ช.พบว่า รถยนต์ที่นำเข้ามาในเมืองไทยร่วม 1 หมื่นคันในห้วงปี 2555-2560 นั้นสำแดงตํ่ากว่าความเป็นจริงเกือบ 95%
ข้อมูลล่าสุดของดีเอสไอที่เสนอเรื่องไปยังกรมศุลกากรนั้นพบว่า เฉพาะการนำเข้ารถยนต์หรูจาก 3 ประเทศชั้นนำที่ผู้ประกอบการรถยนต์หรูที่ส่วนใหญ่เป็นทายาทเศรษฐีเปิดโชว์รูมขายรถกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่นับตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการมีปัญหาหมด
รถยนต์หรูที่นำเข้าจากประเทศอังกฤษ 9,391 คัน กรมศุลกากรได้ประเมินภาษีอากรแล้วพบว่า ยังมีการสำแดงภาษีที่ขาดอยู่ 1,047 คัน มูลค่าอากรขาดไป 3,495 ล้านบาท
รถยนต์หรูที่นำเข้าจากอิตาลี 505 คัน กรมศุลกากรได้ประเมินภาษีอากรแล้วพบว่า ยังมีการสำแดงภาษีที่ขาดอยู่ 336 คัน มูลค่าอากรขาดประมาณ 5,575 ล้านบาท
อ้าปากหวอไปตามๆกันใช่มั้ยครับ....นี่จึงเป็นปัญหาว่ารถยนต์ซูเปอร์คาร์ที่ขายกันในเมืองไทย และที่นำเข้ามาตามท่าเรือ หรือตามเขตปลอดอากร ขายออกไม่ออก ออกของไม่ได้ และเผชิญปัญหาถูกมือดีที่อาศัยใบประกอบอาชีพ “ตำรวจ-ดีเอสไอ” ที่เป็นผู้รักษากฎหมายเรียกหาประโยชน์ใต้โต๊ะกันสนั่นทุ่งในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ปมที่ 2 เป็นเรื่องทางเทคนิคข้อกฎหมายว่าด้วยการคิดอัตราภาษีรถยนต์นำเข้า ที่กำลังกลายเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง “เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร กับผู้ประกอบการนำเข้ารถยนต์หรู”
เรื่องนี้มีอยู่ว่า กรมศุลกากรได้มีการปรับปรุงคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ข้อที่ 2.1.1 ที่ระบุว่า รถยนต์ที่มีแหล่งผลิต หรือประกอบในประเทศของทวีปยุโรป ให้ใช้ราคาขายปลีกในประเทศผู้ผลิต แล้วนำมาหักออกภาษีหรือเป็นส่วนลดค่าการตลาดได้ 43.46% สำหรับรถยนต์นำเข้าทุกยี่ห้อ
โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 กรมศุลกากรได้ประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ โดยมีการปรับส่วนลดค่าการตลาดรถหรู 4 ยี่ห้อดัง คือ เฟอรารี่ พอร์ช มาเซราติ ลัมโบร์กินี ใหม่ ดังนี้....
รถยนต์เฟอร์รารี่ี ให้หักลดลงจาก 43.46% เหลือ 32%
รถยนต์มาเซราติให้หักเพิ่มเป็น 53.52%
รถยนต์ลัมโบร์กินี ให้หักเพิ่มเป็น 27.67%
ที่หนักสุดคือ พอร์ช ลดลงเหลือเพียง 5.94%
ปัญหาเรื่องนี้แหละที่หนักหนาจนผู้ประกอบการนำเข้ารถหรูต้องมีการร้องต่อศาลปกครอง และร้องต่อนายกรัฐมนตรี
เอาเฉพาะรถพอร์ช ราคา 10 ล้านบาท ถ้าใช้หลักเกณฑ์ตามประกาศ 317/2547 เดิมจะได้ส่วนลดค่าการตลาด 43.46% นำไปหักจากราคา 10 ล้านบาท จะเหลือประมาณ 5.6 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะถูกไปใช้คำนวณกับอัตราภาษีรถนำเข้า 328% ที่กรมศุลกากรเรียกเก็บ
แต่หลักเกณฑ์ใหม่ที่ประกาศไปนั้นหากรถยนต์พอร์ชราคา 10 ล้านบาท ที่ส่วนลดทางการตลาดเหลือเพียง 5.94% ราคาที่ต้องนำไปคิดคำนวณเป็นภาษี จะสูงเป็น 9.4 ล้านบาท ตัวเลขนี้ ทำให้ผู้นำรถยนต์นําเข้าต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ผู้นำเข้าจึงร้องกันระงม
นี่เป็น 1 เรื่องในมาตรฐานใหม่ที่สู้กันสุดฤทธิ์ในขณะนี้ ขณะเดียวกันก็มีเสียงออกมาจากผู้นำเข้ารถยนต์อิสระว่า ถ้าเป็นกลุ่มเกรย์มาร์เก็ตหรือนำเข้าแบบอิสระจะต้องสำแดงเป็นรายคัน แต่ถ้าดีลเลอร์รายใหญ่ ที่นำเข้ารถจากประเทศผู้ผลิตสามารถชี้แจงเอกสารรถเพียงคันเดียวก็เหมารวมทั้งรุ่นได้ ทำเป็นเล่นไปรถยนต์ที่สั่งเข้ามาแล้วจอดรอที่ท่าเรือ เขตปลอดอากร แต่ออกของไม่ได้มีกว่า 2,000 คัน
อย่าแปลกใจ ที่เรื่องนำเข้ารถยนต์หรู....ต้องถึงมือนายกฯลุงตู่…นี่ดีนะยังไม่มีการใช้ มาตราป๊อก 4 สองเด้ง ออกมาแก้ปัญหา...
มิเช่นนั้นดูไม่จืด ขอบอก...
.........................
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ /ฉบับ 3331 ระหว่างวันที่ 14-17 ม.ค.2561