การฝึกงาน ถือเป็นการทดสอบความสามารถและประสบการณ์ชีวิตการทำงานที่แท้จริง ได้รู้จักการปรับตัว และเผชิญกับสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง นักศึกษาฝึกงานหลายคน ตั้งคำถามว่า "ในเมื่อเราทดลองทำงานจริง เราควรได้เงินเดือนไหม?"
“เราก็ทำงานในบริษัท อาจช่วยแบ่งเบางานของพนักงานคนอื่นๆได้นิดหน่อย ทำไมถึงไม่ได้เงินเดือนบ้างนะ หรือเงินตอบแทนนิดหน่อยก็ยังดี แบบนี้ก็เหมือนมาทำฟรีๆเลยน่ะสิ”
สเตตัสที่หลายๆคนคงจะเห็นผ่านนักศึกษาที่กำลังผ่านช่วงเวลาฝึกงานอยู่
เด็กนักศึกษาที่กำลังจะจบปริญญา แน่นอนว่าหลายๆคนคงต้องผ่านช่วงเวลา “internship” หรือการฝึกงานมาแล้ว ทั้งต้องปรับตัวในสถานที่ใหม่ ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว แถมพอปรับตัวได้เวลาฝึกงานก็จบลงซะแล้ว บางคนฝึกแค่ช่วงเวลาสั้น 2-3 เดือน บางคนฝึกสหกิจถึง 6 เดือนเลยก็มี และเป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าจริงๆแล้ว นักศึกษาฝึกงาน ควรได้เงินเดือนหรือเงินค่าตอบแทนการทำงานสักนิดหน่อยหรือไม่ ?
เด็กฝึกงานหรือนักศึกษาฝึกงานนั้น ตามกฎหมายกำหนดว่าเป็นผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เข้ามาทำงานกับบริษัทหรือองค์กร โดยมีทั้งแบบที่ทำข้อตกลงกันเป็นสัญญามีลายลักษณ์อักษรชัดเจน และแบบที่ไม่มีการทำสัญญาชัดเจน ต่างจากการทำงานพาร์ทไทม์ที่จะต้องมีการทำสัญญาว่าจ้างให้ชัดเจน นอกจากนี้ นักศึกษาฝึกงานหรือเด็กฝึกงานยังมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจนว่าสามารถฝึกงานได้ไม่ต่ำกว่า 2 เดือน แต่ห้ามเกิน 1 ปีเท่านั้น และยังห้ามทำงานล่วงเวลาอีกด้วย
นักศึกษาฝึกงาน ก็ทำงานเหมือนกัน บางบริษัทก็จ่ายค่าตอบแทนให้ แต่ทำไมบางบริษัทกลับไม่ได้จ่าย ? ก่อนอื่นเลย มาดูที่ตัวกฎหมายแรงงานกันก่อน
มีความแตกต่างกับกฎหมายแรงงานของพนักงานพาร์ตไทม์ และกฎหมายแรงงานของพนักงานประจำอยู่ แต่นักศึกษาฝึกงานจะได้รับค่าตอบแทนหรือมีรายละเอียดชั่วโมงการทำงานยังไง มาดูกัน
ตามที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงไว้ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงานตามกฎหมายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือตามที่สถาบันการศึกษาส่งมาฝึกงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา “ไม่ว่าแบบใดก็ตาม บริษัทจะไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าจ้าง และส่งเงินสมทบประกันสังคม”
ตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน แต่ถ้าบริษัทเลือกที่อยากจะให้ค่าตอบแทนเอง เรทค่าตอบแทนดังกล่าว ก็จะขึ้นอยู่กับว่าสัญญาฝึกงานนั้นระบุไว้ว่าอย่างไรบ้าง หากระบุไว้ว่าเป็นสัญญาจ้างงาน ก็ต้องอิงตามกฎหมายแรงงาน มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวัด เหมือนพนักงานปกติ
แต่ส่วนมาก บริษัทมักเลือกจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้ที่จะเรียกว่าเป็น "เบี้ยเลี้ยง" เพื่อตอบแทนการฝึกแทนมากกว่า
โดยเมื่อในสัญญาฝึกงาน ระบุไว้แล้วว่าจะได้เงินเป็นเบี้ยเลี้ยง บริษัทก็ต้องจ่ายเงินตามกฎหมายเบี้ยเลี้ยงปกติ ซึ่งก็คือ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ
แต่ !! หากนักศึกษามาขอฝึกเอง ไม่ได้มาเพราะส่วนหนึ่งของหลักสูตร หรือไม่ได้มีจดหมายจากสถาบันมาขอฝึกงาน แบบนี้ จะนับว่าเป็นการทำงานปกติ มีฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างกัน ต้องทำทุกอย่างตามกฎหมายแรงงานเหมือนพนักงานปกติคนหนึ่งทุกประการ จะให้เป็นนักศึกษาฝึกงานไม่ได้
แล้วถ้าเราเป็นนักศึกษาฝึกงาน ต้องเลือกระหว่างบริษัทที่จ่ายและไม่จ่ายค่าตอบแทน เราควรเลือกแบบไหนดี
ก่อนที่เราจะเลือกฝึกงานที่ไหนก่อนอื่นเลยเราต้องคิดถึงความต้องการของเราก่อน ว่าเราอยากฝึกงานที่บริษัทไหน หลังจากได้ลิสต์รายชื่อบริษัทที่น่าสนใจแล้ว ก็มาคิดดูว่าบริษัทไหนที่จะทำให้ความสามารถของเราพัฒนาขึ้นไปได้อีก และที่สำคัญคำนึงว่าถ้าเราไปฝึกงาน มันก็คงจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าปกติ หากที่ฝึกงานอยู่ไกลจากที่พักอาศัยเดิมของเรา ลองคำนวณดูคร่าวๆว่า ถ้าเราต้องจ่ายค่ารถ ค่าอาหาร ค่าจิปาถะอื่นๆ หรือบางทีอาจเป็นค่าเช่าห้องบริเวณนั้น เราจะสามารถจ่ายไหวไหมถ้าบริษัทที่เราเลือกไม่มีค่าตอบแทนใดใดให้เราเลย
เรื่องการจ่ายหรือไม่จ่ายค่าตอบแทนให้นักศึกษาฝึกงานก็ขึ้นอยู่กับตัวบริษัทและงานที่ตัวนักศึกษาไปฝึกเอง เข้าใจได้ว่านักศึกษาที่ไปฝึกงานบางที่ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนก็อาจจะมีเคืองใจบ้าง แต่ก็ต้องมองไปในหลายๆมุมถึงเรื่องประสบการณ์ที่เราได้ และความหนักเบาของหน้าที่งานที่เราฝึก ทางที่ดีอยากได้แบบไหนก็เลือกบริษัทแบบนั้นดีกว่า แต่อย่าลืมว่าวัตุประสงค์หลักของการฝึกงานคืออะไร
และสำหรับบริษัท ก็ลองพิจารณาว่านักศึกษาที่มาฝึกงานกับเราได้ทำงานบรรลุเป้าหมายหรือเปล่า หนักเบาเกินไปไหม ถ้ามีภาระหนักเกินนักศึกษาฝึกงานก็อาจจะพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆก็ได้เช่นกัน
อ้างอิงบทความ