เรียนมาก็ตั้งแพง แต่ได้เงินเดือนน้อยไม่คุ้มค่าเทอม แถมยังไม่พอใช้จ่ายรายเดือนอีก ปัญหาใหญ่ของเด็กจบใหม่ที่กำลังสร้างตัว มุมมองของเด็กจบใหม่และมุมมองของนายจ้าง ทำไม่ถึงเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยๆที่นายจ้างจะให้ค่าจ้างไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กจบใหม่
"เงินเดือน" คือหนึ่งในปัญหาแรกๆสำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยจะต้องเจอ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเรียกเงินเดือนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ไม่รู้ว่าเงินที่เราเรียกไปมันจะสูงกว่าหรือต่ำกว่าหน้าที่ ตำแหน่ง และภาระที่เราจะได้รับในงานนั้นๆ บางทีเรียกเงินเดือนสูงไปก็อาจทำให้นายจ้างมองว่าคนรุ่นใหม่ต้องการเงินมากไปรึเปล่า หรือบางทีเรียกเงินเดือนต่ำไปมันก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายรายเดือนที่เราจำเป็นจะต้องจ่าย
ผู้ใหญ่ชอบคิดว่า มันก็ไม่ได้จำเป็นต้องจ่ายขนาดนั้น
ผู้ใหญ่บางคนที่จบมามีประสบการณ์การทำงานจนสร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้วบางคนจะมองว่า ที่ผ่านมาลำบากกว่านี้อีก เงินเดือนน้อยกว่านี้อีก เงินเดือนจบใหม่ทำงานครั้งแรกน้อยกว่านี้อีก ยังผ่านมาได้เลย ทำไมเด็กสมัยนี้จะผ่านไม่ได้ แต่อาจลืมมองไปว่ายุคของผู้ใหญ่กับยุคของเด็กสมัยนี้มันคนละยุคกันแล้ว มันยังมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่เพิ่มขึ้นมามากมาย บางอย่างดูจะแค่เล็กน้อย แต่เมื่อเอารวมๆกันแล้ว อาจจะเกือบทั้งหมดของเงินเดือนเลยทีเดียว
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่มนุษย์เงินเดือนต้องเจอ
ต้องแข่งกับคนรุ่นเก่าคนอื่นๆที่มีประสบการณ์มากกว่า
คนที่จบมามีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว มีโปรไฟล์ดี มีประสบการณ์การทำงานสูง ทักษะดี ก็จะมองว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะเรียกเงินเดือนสูงๆได้ เหมือนกับเด็กจบใหม่ที่เรียนมาดี และคิดว่าตนเองไฟแรงพร้อมทำงานได้ และความสามารถตอนเรียนก็จะเป็นโปรไฟล์ในการเรียกเงินเดือนสูงๆได้เช่นกัน แต่เสียตรงที่ว่าเด็กที่จบใหม่เพิ่งมาสมัครงานครั้งแรก ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ไม่รู้ว่าควรเรียกเงินเดือนเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่ สุดท้ายจะกลายเป็นว่าเราเรียกเงินเดือนไม่เหมาะสมในมุมมองของคนรุ่นก่อนๆ
ไม่มีประสบการณ์ ทำไมกล้าเรียกเงินสูง
นี่เป็นความคิดของนายจ้างเมื่อเห็นเด็กจบใหม่เรียกเงินเดือนสูงๆ อาจเป็นเพราะเขาไม่มั่นใจในความสามารถของเด็กจบใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน ผ่านการฝึกงานเพียงแค่ไม่กี่เดือน แค่มีโปรไฟล์จากการเรียนได้เกรดดี มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง ก็สามารถเรียกเงินเดือนสูงๆได้แล้วเหรอ ในขณะเดียวกันนายจ้างที่มีมุมมองว่าเขาเองก็ผ่านประสบการณ์ทำงานมามาก จึงมองว่าเด็กจบใหม่นั้นเพียงแค่เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานก่อนก็พอแล้ว อายุยังน้อย ยังพอมีเวลาที่จะเพิ่มประสบการณ์ทักษะให้ตัวเองเพื่อเรียกเงินสูงๆได้ เรื่องเงินค่อยว่ากันทีหลังเมื่อมีประสบการณ์มากพอ
ทางออกเรื่องนี้ คือ การหาจุดกึ่งกลางของกันและกันให้ได้ ทั้งนายจ้างและเด็กจบใหม่เองต่างก็มีมุมมองเป็นของตนเอง มุมมองของทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีฝ่ายใดผิดหรือถูก ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการมองเพียงแค่ฝั่งของตนเองเท่านั้น เราควรหันมามองในมุมมองของอีกฝ่ายให้มากขึ้น
นายจ้างที่มีประสบการณ์มากกว่าควรให้ความสนใจกับความสามารถของคนรุ่นใหม่ อย่ามองที่ประสบการณ์ ลองให้เขาได้ทำดูก่อน มันอาจจะมีมุมมองการทำงานใหม่ๆที่เป็นประโยชน์กับบริษัทของคุณก็ได้นะ
ส่วนเด็กจบใหม่ก็ต้องเข้าใจ และพิจารณาตัวเองด้วยว่าทักษะความสามารถของเรามีมากพอที่จะเรียกเงินเดือนสูงหรือเปล่า เราต้องพัฒนาทักษะของเราเองอยู่เรื่อยๆ แค่เรียนดีและโปรไฟล์จากมหาวิทยาลัยอาจจะไม่เพียงพอ และไม่ใช่สิ่งการันตีได้ว่าเราเหมาะสมกับเงินเดือนที่เราต้องการเสมอไป ที่สำคัญเราอาจจะต้องแสดงความสามารถของเราให้นายจ้างเห็นก่อนเขาถึงจะมั่นใจ บางบริษัทถึงมีช่วงเวลาทดลองงาน 1-4 เดือน เพื่อให้ทั้งนายจ้างและคนทำงานได้เรียนรู้ รูปแบบการทำงาน เพื่อนร่วมงาน วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเราควรตกลงกันตั้งแต่สัมภาษณ์งานว่า หากผ่านทดลองงานแล้วอาจปรับเพิ่มเงินเดือน เพื่อให้เกิดความแฟร์กันทั้งนายจ้างและเด็กจบใหม่
ทำอย่างไรเด็กจบใหม่ถึงจะมาสามารถเรียกเงินเดือนสูงๆได้
การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกในปัจจุบันทำให้ทักษะบางอย่างที่เคยใช้ได้ผลกลายเป็นเรื่องตกยุค คนต้องหาความรู้เพิ่มมากขึ้นเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่เริ่มมีบทบาทในโลกการทำงานมากกว่าที่เคย การมี multi-skill เป็นสิ่งที่หลายบริษัทกำลังต้องการตัว เด็กจบใหม่ที่มีความสามารถหลากหลายนอกเหนือจากทักษะที่ได้มาจากการเรียน เช่น มีความสามารถด้านภาษา มีทักษะการสื่อสาร หรือมีความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราจะสามารถเรียกเงินเดือนสูงขึ้นได้
ตลาดแรงงานในขณะนี้ไม่เป็นมิตรกับเด็กจบใหม่ เด็กจบใหม่มีความกังวลในการหางานโดยเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทน จริงๆแล้วการเรียกเงินเดือนของเด็กจบใหม่นั้นไม่ได้ตายตัว หรือทุกคนจะได้รับเงินเดือนเท่ากัน ฐานเงินเดือนเป็นเพียงตัวตั้งเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆที่บริษัทนำมาพิจารณาประกอบด้วย
เด็กที่จบใหม่นอกจากจะสนใจเรื่องเงินเดือนแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญกับงานที่เราเลือกสมัครด้วยว่าความสามารถมากพอรึเปล่า กล้าที่จะเปิดใจยอมรับความเห็นต่างของเพื่อนร่วมงานและคนต่างความคิดแล้วหรือยัง? ที่สำคัญทางบริษัทก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ ความคิดเห็นก่อน และไม่ควรใช้เกณฑ์ว่าไม่มีประสบการณ์มาตัดสิน เพราะบริษัทเองก็อาจพลาดการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่เช่นกัน
อ้างอิง