svasdssvasds

ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ : Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป

ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการ : Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป

"work life balance" เทรนด์การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่กดดัน มีเวลาชัดเจนสำหรับการทำงาน การท่องเที่ยวพักผ่อน เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก แม้ปลายทางความสำเร็จอาจไม่ใช่การมีตำแหน่งที่สูงหรือมีอำนาจมากมาย แต่นี่คือ "ชีวิต" แบบมีความสุขในสิ่งที่ทำ

“เมื่อคืนผมส่งงานให้คุณ ทำไมคุณถึงไม่ตอบ”

ถ้าเป็นเราๆในยุคสมัยก่อนคงต้องรีบขอโทษขอโพยอย่างยกใหญ่ และเรื่องนี้คงจะเป็นเรื่องที่หัวหน้าของคุณ‘จ้องจะเล่นคุณ’ไปอีกสักพัก แต่ไม่ใช่แล้วสำหรับตอนนี้ ‘คนรุ่นใหม่’คงจะไม่มีการทำงานในองค์กรที่มี work ที่(ไร้) balance ในยุคที่เราแบ่งเวลางานและเวลาส่วนตัวได้อย่างชัดเจน

Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป (Photo : Freepik) ไม่แปลกใจเลยที่สังคมไทยในปัจจุบันนี้ยังแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวไม่ได้ มันคงเป็น”ความเคยชิน” เพราะเมื่อเรามองย้อนกลับไปในตัวเราเองสมัยยังเป็นนักเรียน การตื่น6โมงเช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทัน8โมง เรียนหนังสือจนถึง4โมงเย็นและต่อด้วย 5โมงไปเรียนพิเศษจนถึงเกือบทุ่ม กลับบ้านมาทานข้าวอาบน้ำถึง4ทุ่ม เรายังต้องนั่งทำการบ้านหรืออ่านหนังสือต่อ แทบจะไม่มีเวลาของตัวเองเลย ซึ่งแน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกบ้านหรอกที่เป็นแบบนี้

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคม’ส่วนใหญ่’ ทำแบบนี้ต่อกันมาจนแทบจะเป็น cultureในหมู่นักเรียน เมื่อโตขึ้น ความเคยชินเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในที่ทำงาน จนกลายเป็น ‘อยู่บ้านก็ทำงานได้’ ‘เอางานที่บริษัทกลับไปทำด้วยสิ พี่อยากให้งานเสร็จเร็วๆ’

Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป (Photo : Freepik)

บทความอื่นที่น่าสนใจ

แล้วอะไรที่กำลังเปลี่ยนไป ?

การใช้ชีวิตตามกรอบและค่านิยมที่สังคมตั้งให้ตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นความเคยชิน แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การสื่อสารหลายๆอย่างถูกเปิดกว้างขึ้นด้วยอินเตอร์เน็ต การแลกเปลี่ยนความคิดทัศนคติ ทำให้หลายๆคนเริ่มตระหนักได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเดิมๆ ที่จะต้องเรียนให้สูง เพื่อทำงานที่มีตำแหน่งดีดี และได้เงินเดือนสูง แต่การใช้ชีวิตแบบที่เราต้องการต่างหาก คือความสำเร็จที่หลายๆคนอยากจะมี 

เทรนด์การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่กดดัน ความสำเร็จไม่ใช่การมีตำแหน่งที่สูงหรือมีอำนาจมากมาย แต่สำหรับคนรุ่นมิลเลนเนี่ยม การที่เราหา work life balance ได้ และมีความสุขกับสิ่งที่ตนเองทำนั้นถือว่าสุดยอดมาก

Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป (Photo : Freepik) มีงานทำก็ทำไปเถอะ อย่าเรื่องมาก ดีกว่าตกงาน เพื่อแลกกับสุขภาพกายและใจที่ย่ำแย่ลงเรื่องๆ มันคุ้มแล้วจริงๆหรือ?

ค่านิยมที่ถูกส่งต่อกันมาว่า ให้หางานทำ รายได้สูงๆ ตำแหน่งดีดี แลกกับการที่ต้องทำงานหนัก เวลาใช้ชีวิตแทบจะไม่มี การทำงานหนักวันละ8-10ชั่วโมง เริ่มที่จะเลือนหายไปแล้วเมื่อคนส่วนใหญ่เริ่มที่จะตระหนักถึงความสัมพันธ์ของงานกับสุขภาพจิต เริ่มที่จะเห็นความสำคัญของชีวิตส่วนตัว มากกว่าทุ่มแรงกายแรงใจทั้งหมดให้กับงานของบริษัท

Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป (Photo : Freepik)

คำว่า work life balance ในความหมายโดยทั่วไปที่คนทำงานต้องการ คือตารางงานที่ไม่ให้พวกเราเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อเอาไปเพิ่มชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น ตารางเวลางานที่ยืดหยุ่นได้ ป่วยก็ลาพัก มีธุระก็ลากิจ แค่ต้องทำงานให้เสร็จตามวันเวลาที่กำหนด 

บริษัทเลือกพนักงาน หรือพนักงานเลือกบริษัท?

ทุกคนต่างก็มีสิ่งที่ตนเองอยากจะทำนอกเหนือเวลางานกันทั้งนั้น บริษัทที่ไม่เห็นความสำคัญของเวลาว่างของพนักงาน คือบริษัทที่จะไม่อยู่ในตัวเลือกของคนรุ่นใหม่หลายๆคน

เคยเห็นหลายคนตั้งกระทู้ถาม ถูกบริษัทหรือหัวหน้างาน ทวงถามงานกลางดึก หรือแม้แต่การตอบนัดสัมภาษณ์งานนอกเวลา ทำให้หลายคนถึงกับโบกมือลาเพราะรู้สึกว่า เกินขอบเขตที่ควรจะทำงาน โดยเฉพาะ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ใส่ใจเรื่องเวลางานคือเวลางาน เวลาพักผ่อนคือพักผ่อนมากแค่ไหน บริษัทไม่ได้เลือกพนักงานอีกต่อไปแล้ว ในยุคที่เปลี่ยนไป บริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวของพนักงาน จะเป็นบริษัทที่ถูกปัดตก ไม่ยื่นใบสมัครอย่างเด็ดขาด เหมือนที่เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ ว่าการมีงาน แต่แลกกับสุขภาพจิตที่เสียไปแบบนี้ ยอมอดทนหางานใหม่ที่ทำให้เรามีความสุขยังจะดีซะกว่า

Work (ไร้) balance ความเคยชินที่กำลังเปลี่ยนไป (Photo : Freepik) แล้วงานแบบไหนถึงจะโดนใจคนรุ่นใหม่

แน่นอนว่าเพียงแค่มีเรทเงินเดือนที่สูงก็คงไม่เพียงพอแล้วสำหรับปัจจุบันนี้ งานที่เงินเดือนสอดคล้องกับภาระหน้าที่ที่ต้องทำ พร้อมทั้งมีสวัสดิการเสริมให้พนักงาน งานที่มีตารางเวลาที่ยืดหยุ่น เน้นผลลัพธ์ของงานมากกว่าชั่วโมงการทำงาน มีประสบการณ์ใหม่ๆให้พนักงานได้ท้าทายความสามารถของตัวเอง มีเจ้านายที่เข้าถึงง่าย และมองทุกคนเท่าเทียมกัน อาจจะมองว่าคนสมัยนี้เรื่องมากเกินไปรึเปล่า ทำไมถึงจะเอาแต่ได้อย่างเดียวแต่เมื่อลองนึกย้อนไป สิ่งพวกนี้แหละ เป็นสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้พนักงานสร้างสรรค์งานที่ดีที่สุดให้กับองค์กรได้ 

การมีงานทำนั้นไม่เพียงพอคนในปัจจุบันแล้ว แต่การมีงานที่ทำให้เราไม่ต้องเสียความเป็นตัวเอง ได้ทำสิ่งอื่นๆที่เราชอบ และไม่ต้องทุ่มเทชีวิตให้งาน คืองานในฝันของหลายๆคน ณ ตอนนี้

เรียบเรียง : ต้นข้าว

ข้อมูลอ้างอิง

Rook, D. (2020, May 12). The Multi-Generational Definition of Work-Life Balance. The Multi-Generational Definition of Work-Life Balance

The importance of work life balance. (n.d.). Dropbox.

เด็กไทยเรียนหนัก-เครียดพ่อแม่กดดัน-แบกความหวังของคนรอบข้าง. (n.d.).

Bangkokbiznews

related