เรื่องราวของ “ซีซิฟ” ที่ถูกลงทัณฑ์จากเทพเจ้า ให้เข็นหินขึ้นภูเขาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ที่ได้มีการตีความเชิงปรัชญาออกมามากมาย และก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่น่าสนใจ ระหว่างความทุกข์กับความสุข และการต่อสู้ของชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง
"ซีซิฟ" (Sisyphe) หรือ "ซิซีฟัส" (Sisyphus) เป็นเรื่องราวในเทพปกรณัมกรีก โดยหลังจากความพ่ายแพ้ของ “พรรคก้าวไกล” ในการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ก็ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งขึ้นมา โดยได้หยิบยกเรื่องราวของ “ซีซิฟ” ในมุมมองเชิงปรัชญาจากหนังสือ Le mythe de Sisyphe ของ “อัลแบร์ การ์มูร์” (Albert Camus) นักเขียนรางวัลโนเบล ชาวฝรั่งเศส เจ้าของวรรณกรรมอมตะ อาทิ คนนอก , มนุษย์สองหน้า , กาฬวิบัติ และความตายอันสุข มาเล่าสู่กันผ่านเฟซบุ๊กของเขา
โดย “ปิยบุตร ได้ระบุว่า “Le mythe de Sisyphe ของ Albert Camus เป็นงานที่ผมชอบมาก อ่านซ้ำหลายรอบ และเป็นงานที่ทำหน้าที่ทั้งสร้างแรงบันดาลใจและปลอบประโลมจิตใจในการต่อสู้ของผมมาโดยตลอด...”
ซึ่ง Le mythe de Sisyphe ของ อัลแบร์ การ์มูร์ บอกเล่าถึงภารกิจการเข็นหินขึ้นภูเขาของ “ซีซิฟ” อย่างไม่วันสิ้นสุด อันเนื่องมาจากถูกเทพเจ้าลงทัณฑ์ ซึ่งในมุมมองเชิงปรัชญาก็ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่น่าสนใจระหว่างความทุกข์กับความสุข และการต่อสู้ของชีวิตได้อย่างลึกซึ้ง โดย “ปิยบุตร” ได้หยิบยกเนื้อหาที่เขาประทับใจ มานำเสนอ ดังต่อไปนี้
บทความที่น่าสนใจ
“ซีซิฟ” ใน Le mythe de Sisyphe ของ อัลแบร์ การ์มูร์
ทวยเทพได้ตัดสินลงโทษ “ซีซิฟ” ให้กลิ้งก้อนหินโดยไม่หยุดขึ้นไปบนยอดเขา ที่ซึ่งก้อนหินจะร่วงกลับลงไปด้วยน้ำหนักของมันเอง พวกเขาคิดว่าไม่มีบทลงโทษใดๆ จะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าการให้ทำงานที่ไร้ผลและไร้หวังอีกแล้ว
เราเข้าใจกันแล้วว่า “ซีซิฟ” เป็นวีรบุรุษไร้สาระ ซึ่งเขาเป็นทั้งโดยอารมณ์หลง และความทุกข์ทรมานที่ได้รับ การดูถูกเทพเจ้า เกลียดชังความตาย และการหลงใหลในชีวิตของเขา ทำให้ต้องโทษมหันต์เกินพรรณนา
ซึ่งเขาต้องใช้ทั้งกายใจไปทำในสิ่งที่ไม่อาจบรรลุผลใดๆ เลย นี่คือราคาที่ต้องจ่ายสำหรับอารมณ์รักหลงต่างๆบนโลกนี้ เราไม่รู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับ “ซีซิฟ” ในยมโลก เทพนิยายถูกสร้างขึ้นเพื่อให้จินตนาการ ได้ให้ชีวิตแก่มัน
สำหรับเรื่องนี้ เราเห็นเพียงความพยายามทั้งหมดของร่างร่างหนึ่งที่ออกแรงทั้งหมดเพื่อแบกก้อนหินก้อนใหญ่ขึ้น แล้วกลิ้งและเข็นมันขึ้นไปตามลาดเนินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นร้อยเที่ยว
เราเห็นใบหน้าบิดเบี้ยว แก้มแนบติดก้อนหิน ไหล่ดันหินที่มีแต่ดินโคลน เท้าจิกพื้น แขนเหยียดยื่น สองมือมนุษย์ที่มีแต่ดินอันมั่นคง ณ ที่สุดของความพยายามอันยาวนาน ในกาละอันไร้ความลึก และเทศะไร้ขอบฟ้าแล้ว ก็ลุถึงที่หมาย
และแล้ว “ซีซิฟ” ก็ได้เห็นก้อนหินกลิ้งกลับลงสู่โลกชั้นต่ำกว่าในเวลาเพียงครู่สั้นๆ เขาต้องลงไปกลิ้งมันกลับขึ้นสู่ยอดอีกครั้ง เขาเดินกลับลงสู่พื้นราบ
มันคือในระหว่างหันกลับ การพักของ “ซีซิฟ” นั้นเองที่ผมสนใจ ใบหน้าที่กรำงานหนักใกล้กับก้อนหินนั้นได้กลายเป็นหินไปเองเสียแล้ว! ผมเห็นคนคนนั้นเดินกลับลงสู่การทรมานที่เขาไม่มีวันรู้จุดจบนั้นด้วยฝีก้าวหนักอึ้งแต่มั่นคง
ชั่วขณะนั้นเท่ากับช่วงหายใจเฮือกเดียวและจะกลับมาอีกอย่างแน่นอน ดังเช่นเคราะห์กรรมของเขา นั่นคือชั่วขณะแห่งการสำนึกรู้ ณ ทุกขณะซึ่งเขาละจากยอดเขาและค่อยๆ จมลงสู่ถ้ำของทวยเทพทีละน้อยนี้ เขาอยู่เหนือชะตากรรมของตน เขาหนักแน่นเช่นก้อนหินของตน
หากตำนานเรื่องนี้คือโศกนาฏกรรม นั่นก็เพราะว่าตัวละครเอกนั้นรู้สำนึก ว่าแต่โทษทัณฑ์ของเขาจะอยู่ที่ไหน ถ้าทุกก้าวที่ย่างไปนั้นมีความหวังของความสำเร็จค้ำจุนอยู่ ? คนงานในปัจจุบันทำงานเดิมๆ ทุกวันในชีวิต และชะตากรรมนี้หาได้ไร้สาระน้อยไปกว่ากันไม่
แต่มันจะเป็นโศกนาฏกรรมก็แต่เฉพาะในบางขณะที่เขาตระหนัก หรือคิดได้ “ซีซิฟ” มนุษย์ผู้ต่ำต้อยของทวยเทพ ไร้อำนาจและพยศ รู้สภาพที่เลวร้ายทั้งหมดของตน และนี่คือสิ่งที่เขาคิดขณะเดินลงจากยอดเขา
การมีสำนึกแจ่มชัดอันเป็นความทุกข์ทรมานของเขานั้น ก็เป็นชัยชนะด้วยในเวลาเดียวกัน ไม่มีเคราะห์กรรมใดๆ ที่ไม่ได้ข้ามพ้นตนเองด้วยการดูหมิ่นมัน
ความยินดีเงียบๆ ทั้งหมดของ “ซีซิฟ” อยู่ตรงนั้น ชะตากรรมของเขาเป็นของเขา ก้อนหินของเขาเป็นของของเขา ทำนองเดียวกัน ขณะที่คนไร้สาระครุ่นคิดถึงความเจ็บปวดทรมานของตน ก็ได้ทำให้รูปเคารพทั้งหมดเงียบเสียง ในจักรวาลที่คืนสู่ความเงียบในบัดดลนั้น เสียงเล็กๆ อันอัศจรรย์นับพันๆ ของโลกดังขึ้น เสียงกู่เรียกลับๆ ที่ไร้สำนึก
คำเชื้อเชิญจากทุกใบหน้า เหล่านี้ล้วนเป็นด้านกลับที่จำเป็น และเป็นราคาที่ชัยชนะต้องจ่าย ไม่มีแสงตะวันที่ไร้เงา และเราจำต้องรู้จักกลางคืน คนไร้สาระตอบรับ และความพยายามของเขาจะไม่หยุดอีก ถ้ามีชะตากรรมส่วนบุคคลอยู่ ก็จะไม่มีชะตากรรมที่เหนือกว่า หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะมีเพียงชะตากรรมเดียวที่เขาถือว่าเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจฝืนและน่าหยาม
ส่วนที่เหลือนั้น เขารู้ดีว่าตนคือนายแห่งวันเวลาของตน ในชั่วขณะอันละเอียดอ่อนซึ่งคนหันคืนสู่ชีวิตของตน ซีซิฟกลับไปยังก้อนหินของเขา พินิจใคร่ครวญการกระทำที่ต่อเนื่องอันไร้การเชื่อมโยงซึ่งกลายเป็นชะตากรรมของตนเหล่านั้น
เขาเป็นผู้สร้างเอง เชื่อมเข้าด้วยกัน ภายใต้สายตาแห่งความทรงจำของเขา และในไม่ช้าจะถูกผนึกปิดโดยความตายของเขา
ดังนั้น ด้วยเชื่อว่าทุกสิ่งที่เป็นมนุษย์ล้วนกำเนิดจากมนุษย์ คนตาบอดผู้ปรารถนาจะมองเห็นรู้ว่า ความมืดไม่มีที่สิ้นสุด “ซีซิฟ” ดำเนินต่อไป ก้อนหินกลิ้งไปอีกครั้ง
ผมทิ้ง “ซีซิฟ” ไว้ที่เชิงเขา ! เรามีภาระของเราเสมอ แต่ “ซีซิฟ” ได้สอนเราถึงความซื่อสัตย์ขั้นสูงในการปฏิเสธเทพเจ้า และแบกก้อนหินขึ้น เขาอีกนั่นแหละที่เป็นผู้ตัดสินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด สำหรับเขา จักรวาลที่นับจากนี้ไม่มีเจ้านาย จะไม่เป็นทั้งที่กันดารแห้งแล้งและไร้ประโยชน์
ทุกอณูของหินก้อนนั้น ทุกเกล็ดแร่ของภูเขาอันมืดมิดลูกนี้ ก่อรูปเป็นโลกโลกหนึ่งในตัวมันเอง การต่อสู้เพื่อมุ่งสู่ยอดเขาโดยตัวมันเอง เพียงพอที่จะทำให้หัวใจคนเต็มตื้น เราจำต้องเชื่อว่า ซีซิฟมีความสุข
Albert Camus, Le mythe de Sisyphe, 1942 (สำนวนแปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท, เทพตำนานซีซิฟ, มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม, 2558, หน้า 187-193.)
ซีซิฟ (Sisyphe) หรือ ซิซีฟัส (Sisyphus) ในเทพปกรณัมกรีก
ส่วนในเทพปกรณัมกรีก เล่าถึง “ซีซิฟ” (Sisyphe) หรือ “ซิซีฟัส” (Sisyphus) พระราชาแห่งเมืองคอรินธ์ ผู้เปี่ยมไปด้วยเล่ห์เพทุบาย โดยวันหนึ่งเขาได้ล่วงรู้ความลับของ “เทพเจ้าซูส” ที่ลักพาตัว “เอจิน่า” ธิดาของ “เทพเจ้าอะโซปัส” เทพแห่งแม่น้ำ
เขายื่นข้อเสนอกับ “เทพเจ้าอะโซปัส” ว่า หากเนรมิตแหล่งน้ำใหม่ให้กับเมืองคอรินธ์ เขาก็จะบอกว่า ใครเป็นผู้ลักพาตัวธิดาของพระองค์ไป
เมื่อทราบความจริง “เทพเจ้าอะโซปัส” ก็ขอให้ “เทพเจ้าซูส” ปล่อยตัวธิดาของตน ต่อมาเมื่อ “เทพเจ้าซูส” ทราบว่า ผู้บอกความลับดังกล่าวกับ “เทพเจ้าอะโซปัส” ก็คือ “ซีซิฟ” พระองค์จึงสั่งให้ “เทพเจ้าทานาทอส” เทพแห่งความตาย ไปรับวิญญาณของ “ซีซิฟ” นำไปลงขุมนรก
แต่ด้วยความเจ้าเล่ห์ของ “ซีซิฟ” เขาจึงสามารถจับตัว “เทพแห่งความตาย” และคุมขังไว้ได้ ส่งผลให้ “เทพเจ้าแอรีส” เทพแห่งสงคราม พิโรธเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีมนุษย์ตายในสงครามเลย จึงไปช่วย “เทพเจ้าทานาทอส” ออกมาที่คุมขัง
แต่ก่อนที่ “ซีซิฟ” จะพลาดท่า ถูก “เทพเจ้าทานาทอส” นำตัวไปลงทัณฑ์ในขุมนรก เขาก็ได้วางแผนโกงความตาย จนสามารถกลับมาในโลกมนุษย์ได้อีก แต่ต่อมา “ซีซิฟ” ก็ต้องเสียชีวิตลง และไม่สามารถโกงความตายอีกได้ เนื่องจากถูก “เทพีอโทรพอส” ธิดาของเทพเจ้าซูส ตัดเส้นด้ายแห่งชีวิต
หลังจาก “ซิซีฟ” ถูกนำตัวไปยังขุมนรก “เทพเจ้าเฮดีส” ผู้ปกครองยมโลก ลงทัณฑ์ด้วยการให้ “ซิซีฟ” เข็นก้อนหินขนาดมหึมาขึ้นภูเขา และพอเข็นไปจนถึงยอดบนสุดแล้ว เมื่อหินกลิ้งลงมาเบื้องล่าง เขาก็ต้องเข็นหินขึ้นไปอีก โดยจะต้องเข็นหินขึ้นภูเขาอย่างไม่มีวันจบสิ้น... ชั่วนิจนิรันดร์
เรื่องราว “ซีซิฟ” ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กวีกับศิลปินมากมาย และได้มีการตีความในเชิงปรัชญาในหลากหลายมุมมอง โดยนักคิดบางคนก็วิเคราะห์ว่า อันที่จริงชีวิตมนุษย์เราก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับ “ซีซิฟ” เลย ที่ต้องทำในสิ่งซ้ำซาก ที่เปล่าประโยชน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
รวมกระทั่งถึงคำถามที่ว่า การเข็นหินขึ้นภูเขาของ “ซีซิฟ” ได้อย่างไม่จบสิ้น เป็นไปด้วยความทุกข์ หรือความสุข ? แต่นักคิดบางคนก็มองว่า การเข็นหินของ “ซีซิฟ” ได้สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจในการต่อสู้ ที่ไม่ว่าจะต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าและเริ่มต้นใหม่อย่างนับไม่ถ้วน แต่ก็ยังคงทำต่อไป ซึ่งนี่แหละคือคุณค่าของการต่อสู้และการดำรงอยู่...อย่างแท้จริง
อ้างอิง
FB : Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
เทพตำนานซีซิฟ (Le mythe de Sisyphe) ผลงานของ “อัลแบร์ การ์มูร์” (Albert Camus) แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม