svasdssvasds

ชวนเกาะ ว่าวไทย ในกรุงฯ บินย้อนดูประวัติศาสตร์การละเล่นไทยแต่โบราณ

ชวนเกาะ ว่าวไทย ในกรุงฯ บินย้อนดูประวัติศาสตร์การละเล่นไทยแต่โบราณ

ว่าวไทย ในกรุงฯ เป็นกิจกรรมแรกของ เทศกาลกีฬากรุงเทพ ที่จะขึ้นตลอดเดือนตุลาคมนี้ ชวนโฉบย้อนดูบันทึกที่มาเรื่องราวความผูกพันระหว่างว่าวกับคนไทย

เนื่องในกิจกรรม “เทศกาลกีฬากรุงเทพ” ในเดือนตุลาคม ที่เป็นหนึ่งในนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล ของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยชูการละเล่นของไทย เช่น ว่าว ตะกร้อ มวย และหมากกระดาน มาเป็นพระเอกให้คนกรุงเทพฯ ได้ย้อนวันวานและสัมผัสกับวิถีชีวิตคนไทยในอดีต 

โดยกิจกรรมในวันที่ 8-9 ตุลาคมนี้ มีชื่อว่า ว่าวไทย ในกรุงฯ ณ ท้องสนามหลวง จะจัดขึ้นเวลา 16.30 น.เป็นต้นไป อยากชวนมาดูกันสิว่า ที่มาประวัติศาสตร์ระหว่างว่าว, คนไทยและท้องสนามหลวง มีเรื่องราวความผูกกันอย่างไร
 

ชวนเกาะ ว่าวไทย ในกรุงฯ บินย้อนดูประวัติศาสตร์การละเล่นไทยแต่โบราณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สืบจากว่าว
หลักฐานจากหนังสือ เอนไซโคลพีเดียบริทานิกา ระบุบันทึกเครื่องเล่นที่มีโครงสร้างติดกระดาษชักขึ้นไปอยู่เหนือในอากาศตั้งแต่  400 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ซึ่งคาดว่าการส่งว่าวขึ้นท้องฟ้าอาจเป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทางศาสนา ที่จะมีการร้องเพลงสวด เพลงว่าว คลอไปกับกิจกรรมนี้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ในชนเผ่ามารี

ว่าวในแผ่นดินไทย
จุดเริ่มต้นว่าวในประวัติศาสตร์ไทยอาจไม่ได้มีบันทึกเขียนไว้ชัดเจนว่ามีการนำมาเล่นเมื่อไหร่ แต่คาดว่าน่าจะมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสร้างกรุงสุโขทัย ซึ่งได้อิทธิพลมาจากผู้อพยพประเทศจีนที่เข้ามาในเอเชียอาคเนย์โดยแต่โบราณ ชาวจีนถือเอาวันที่ 9 เดือน 9 เป็น "วันว่าว" 

ในสมัยอยุธยา ได้มีระบุอยู่จดหมายเหตุของ มองซิเออร์ ลาลูแบร์  ซึ่งเป็นอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยที่ 14 กรุงฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้อ้างอิงถึงการเล่นว่าวของไทยว่าที่นิยมในหมู่เจ้านายและขุนนาง เป็นการละเล่นที่สนุกสนาน

โดยภาพหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันอีกหนึ่งชิ้นที่มีให้เห็นอยู่ใน จิตรกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพฯ ที่บันทึกให้เห็นการเล่นว่าวของคนไทยในอดีต

เมื่อไหร่ที่ว่าวจับคู่กับท้องสนามหลวง
ในรัชกาลที่ 4 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ขึ้นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้ ใน พ.ศ.2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางการต้องออกประกาศให้ระมัดระวังการเล่นว่าว จึงคาดกันว่าน่าจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมกันมากในทุกชนชั้น

"..พระยาเพชรปาณีรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้นายอำเภอป่าวร้องประกาศข้าราชการ และราษฎรที่เป็นนักเลงว่าว เอาว่าวขึ้น ก็ให้เล่นแต่ตามท้องสนามหลวงที่ว่างเปล่า ไม่ห้ามปรามดอก ให้เล่นเถิด แต่อย่าให้สายป่านว่าวไปถูกเกี่ยวข้องพระมหาปราสาท พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ช่อฟ้าใบระกา พระมหามณเฑียร พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวัง 
และช่อฟ้าใบระกาวัดวาอารามให้หักพังได้ ถ้าผู้ใดชักว่าวไม่ระวัง ให้สายป่านพาดไปถูกต้องของหลวงและวัดวาอารามให้หักพังยับเยินไป จะเอาตัวเจ้าของว่าวเป็นโทษตามรับสั่ง..."

ในรัชกาลที่ 5 จนเมื่อปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือ ทำให้ขยายพื้นที่สนามหลวงให้กว้างมากขึ้นและไม่มี่สิ่งกีดขวางและได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แข่งขันว่าวพนันที่ท้องสนามหลวงได้ ขึ้นในปีนั้น แต่นั้นมาท้องสนามหลวงจึงกลายเป็นแหล่งชุมนุมของนักเล่นว่าวพนันจากทั่วสารทิศมารวมตัวกัน

และเมื่อเห็นว่าเป็นที่นิยมอย่างมากในประชาชนจึงเริ่มต้นจัดการแข่งขันว่าวจุฬา-ปักเป้าชิงถ้วยทองคำพระราชทานประจำปีที่พระราชวังสวนดุสิต ขึ้นในปี พ.ศ.2449 โดยรัชกาลที่ทรงเสด็จทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง สนามว่าวแต่เดิมมีอยู่ที่บริเวณ เช่น สนามหน้าโรงหวย อยู่ข้างประตูสามยอด สนามสะพานเสี้ยว ด้านหน้ากระทรวงยุติธรรม และสนามวัดโคก แต่ก็ล้มเลิกไปหลังจากนั้นเพียงสองปี การแข่งขันจึงกลับไปแข่งที่ท้องสนามหลวงตามเดิม

โดยในรัชกาลที่ 6  ย้ายการแข่งขันมาที่บริเวณ สนามทุ่งศาลาแดงเรื่อยมาจนความนิยมลดลงและเลิกจัดไปในปี พ.ศ. 2465 

และกลับมาจัดอีกครั้งเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนแต่งตั้งให้นายพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร) เป็นนายสนามว่าวคนแรก ได้ออก  "ระเบียบการและกติกาว่าวแข่งขัน ใน พ.ศ. 2467" และนำการแข่งขันว่าวพนันมาจัดกันที่ท้องสนามหลวงมีผู้เข้าแข่งขันจำนวนมากจนต้องแบ่งรอบให้มีการแข่งหลายวัน 

ว่าวมี 2 ประเภทคือ 

  • ว่าวแผง เป็นว่าวที่มีกว้าง ยาว ไม่มีความหนา เช่น ว่าวจุฬา ว่าวปักเป้า ว่าวอีลุ้ม ว่าวรูปสัตว์ 
  • ว่าวภาพ มีลักษณะพิเศษ ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์รูปทรงหลากหลาย เน้นความสวยงาม

วิทยาศาสตร์ในการเล่นว่าว
การจะทำให้ว่าวลอยขึ้นในอากาศต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ 

  1. กระแสลม
  2. พื้นที่
  3. อุปกรณ์บังคับ เช่น เชือกหรือด้าย สายซุงมีหน้าที่ปรับมุมปะทะอากาศกับว่าว

โดยใช้แรงกระทำ 4 ข้อ คือ

  1. แรงขับ เป็นแรงจากคนดึงสายว่าวสวนทางกับแรงลม 
  2. แรงต้าน เป็นแรงที่มีทิศทางเดียวกันกับกระแสลม
  3. แรงยก เป็นแรงที่ทำให้ว่าวลอยขึ้นไปในอากาศได้ ซึ่งจะมีแรงนี้ด้านบนของหลังว่าว
  4. แรงน้ำหนักถ่วง เป็นแรงที่อยู่ด้านล่างของว่าว ซึ่งเกิดจากแรงโน้มถ่วงของโลก

ซึ่งการจะทำให้ว่าวลอยขึ้นได้ต้องมีแรงถ่วงจากน้ำหนักของว่าว น้อยกว่าแรงยก และแรงขับของลม ที่มีความเร็วมากพอเพื่อชนะแรงต้าน ซึ่งมีทิศทางเดียวกับกระแสลม

ศิลปะกับว่าว
ไม่เพียงโครงสร้างและอุปกรณ์ที่สำคัญ การออกแบบว่าวให้มีความสวยงามโดดเด่น ก็กลายอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การละเล่นหรือกิจกรรมเกี่ยวกับว่าวได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในหลายปีก่อนก็ได้มีเทศกาลว่าวนานาชาติและในระดับท้องถิ่นที่จัดขึ้นในเมืองไทยเป็นประจำ เช่น เทศกาลว่าวนานาชาติ 2022 Kite Flying Day หรือ เทศกาลงานว่าว ชายหาดชะอำ 2022 ที่จัดขึ้นในปีนี้ สร้างสีสันให้กับท้องฟ้าริมชายหาดและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาร่วมกิจกรรม 

ที่มา

9ddn.com

thaisports.org

th.wikipedia.org

related