svasdssvasds

งานอนุรักษ์ กำลังเป็นงานสุดฮิตในอนาคต เพราะอะไรล่ะ?

งานอนุรักษ์ กำลังเป็นงานสุดฮิตในอนาคต เพราะอะไรล่ะ?

อาชีพสุดฮิตในอนาคตมาแรง หนึ่งในนั้นคืองานอนุรักษ์แน่นอน ทำไมงานอนุรักษ์กำลังเป็นงานแห่งอนาคตล่ะ? มาฟังสรุปวงเสวนาของ National Geographic จากงาน SX EXPO 2022 กัน

คำว่า งานอนุรักษ์ ดูเป็นงานจิตอาสาที่หลายคนยังมองว่า เป็นงานที่ต้องใช้ใจและเป็นงานที่เงินน้อย แต่วันนี้ มุมมองแบบนี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะทั่วโลกกำลังมุ่งหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมกันแล้ว และผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านลองเปิดใจดูว่า แท้จริงแล้ว งานอนุรักษ์คืองานอาสาที่ไม่มีรายได้จริงเหรอ กับงานเสวนาของ National Geographic ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ในงาน Sustainability Expo 2022 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อ “งานอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่เป็นอาชพแห่งอนาคต”

ภายในงานเสวนา ได้เชิญนักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมตัวจริง มาแชร์ประสบการณ์การทำงาน อาทิ

  • อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand) ทูตสันถวไมตรีประจำประเทศไทย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP)
  • ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดี, National Geographic Explorer สมาชิกของ International League of Conservation Photographers (iLCP)
  • รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ทีมวิจัยนก กลุ่มวิจัยนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของสถิตินับนกประเทศไทย วันนกอพยพโลกปี 2564

ดำเนินการเสวนาและร่วมแชร์ประสบการณ์ โดย

  • ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์, National Geographic Explorer และนักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้ง ReReef

สปริงนิวส์สรุปให้ ว่าภายใต้งานเสวนา แต่ละท่านพูดอะไรที่น่าสนใจบ้างในประเด็นหัวข้อดังกล่าว

อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงและผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand) อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงและผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC Thailand) มองว่า

ผมไปทำเรื่องการศึกษา ผมมองว่าการศึกษาเป็นทางออกของหลายๆปัญหา แต่อาจจะเป็นทางออกที่ใช้เวลานิดนึง เพราะฉะนั้นการที่เราปลูกฝังให้กับเยาวชน คือผมพยายามทำให้สังคมเราใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยไม่ได้มองว่ามันเป็นเทรนด์ มันเป็นเรื่องปกติ มันควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเรา ตอนนี้เรากำลังไปยังทางนั้น แต่ก็ต้องใช้เวลา เยาวชนรุ่นใหม่ วันหนึ่งก็จะเป็นคนขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ที่ต้องไปบอกคนว่า เธอต้องสนใจสิ่งแวดล้อม เหมือนเราต้องไปเปลี่ยนคนที่เข้าใช้ชีวิตอย่างนี้มาเป็นสิบยี่สิบปีแล้ว มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทาย ถ้าเราไปเริ่มที่เยาวชน เราก็จะเติบโตขึ้นได้

ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มตอนแรก เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืนไม่ได้รับเทรนด์เยอะขนาดนี้ ในโลกกระแสโซเชียลมีเดียเดี๋ยวนี้เปิดมาก็มีเรื่องของความยั่งยืนแล้ว มีแต่เรื่องป่า เรื่องทะเล เรื่องการท่องเที่ยว เราก็จะได้เห็นมากขึ้น เพราะ10 ปีที่แล้ว เราไม่ได้เห็นอะไรแบบนี้เลย มันจะเป็นแค่กลุ่มคนเล็กๆที่เขาทำกัน

ผ่านมา 10 ปี มันไม่ใช่เรื่องของอาสาสมัครอีกต่อไปแล้ว พอโลกมาให้ความสนใจมากขึ้น  บริษัทองค์กรทุกๆองค์กร ก็จะมีฝั่งของความยั่งยืน ไม่ได้ทำในรูปแบบของจิตอาสา CSR หรือการ Volunteer อีกต่อไปแล้ว แต่จะมีแผนกเฉพาะในด้านของความยั่งยืน เราทุกคนต้องการความยั่งยืน ไม่เพียงแค่ธรรมชาติ เราเองก็ต้องการการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

น้องๆอาจคิดว่า งานสิ่งแวดล้อมต้องไปทำแบบพี่อเล็กซ์ พี่ชิน พี่ฝ้าย แต่มันไม่จำเป็นเลย น้องๆคนไหนที่ชอบเรื่องแฟชั่นเรื่องเสื้อผ้าก็นำไปทำได้ ว่าเราทำในอุตสาหกรรมนี้มีแบบไหนบ้างที่มันช่วยโลกได้ ทำยังไงให้แฟชั่นมันยั่งยืนได้มากขึ้น เราเอาพลาสติกกลับมาทำเป็นเสื้อผ้านี่ก็คือแฟชั่นเหมือนกัน ตอนนี้งานมันหลากหลายมาก

ช่วงนี้ผมทำงานกับเด็กๆบ่อย และก็เจอผู้ปกครองและผมก็รู้ว่าผู้ปกครองไม่อยากให้ลูก ไปด้านนี้ เพราะผู้ปกครองยังมีมุมมองเดิมๆว่า งานแบบนี้มันคืออาสา มันคือ CSR แต่ตอนนี้อยากให้มองว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว ทั่วโลกเริ่มมองหาความยั่งยืน โอกาสการทำงานมันเยอะมาก มันสามารถเลี้ยงตัวเองได้ มันสามารถสร้างเป็นหน้าที่การงานจริง ๆ ได้ มันจะไม่ใช่ใจอย่างเดียว มันกำลังจะกลายเป็นอาชีพจริง ๆ แล้ว

ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดี, National Geographic Explorer คุณชิน ช่างภาพ National Geographic

ตอนเป็นเด็ก ผมชอบฉลาม แม่ทำตลาดปลา แล้วก็ชอบเอาฉลามมาเก็บไว้ที่บ้าน และก็เอาฉลามแช่แข็ง 2-3 ตัวไปโชว์เพื่อน ส่วนถ้าถามว่า ตอนไหนที่ผมสนใจงานนี้จริง ๆ คือ ช่วงที่ไปเจอกับนิตยสารของ National Geographic ก็มีความรู้สึกว้าว หึ้ย หนังสือเล่มนี้คืออะไร มันสุดยอดมาก ผมเรียนวิทยาศาสตร์มา ซึ่งมันสามารถไปต่อได้หลากหลายแขนงมาก เช่น หมอ วิศวะ

แต่ผมชอบไปทะเล ต่อมาผมก็คิดว่า ในอนาคตอีกสัก 10 ปี 20 ปี ผมอยากทำงานที่ทะเลว่ะ ผมอยากอยู่กับธรรมชาติ ก็เลยไปทำงานอยู่เกาะเต่า ไปอยู่กับชุมชน จนผมได้มีโอกาสได้ทุนทำวิจัยเรื่องฉลาม ผมก็โอเค นี่จะเป็นสิ่งที่ผมจะทำต่อไปเรื่อย ๆ และบังเอิญจีโอใจดี ให้ผมทำสารคดีเกี่ยวกับงานวิจัยที่ผมทำอยู่ และไซต์เปเอร์ผมคนก็ไม่ค่อยเอาไปใช้เยอะเท่าไหร่ แค่ 20 คนเท่านั้นเอง ผมก็เลยมุ่งไปที่การสื่อสารกับคนว่าผมไปเจออะไร ฉลามที่หายไปเป็นยังไง คืออะไร ตอนนี้ผมก็ยังทำวิจัยอยู่ ก็ทำกับเพื่อน แต่หลักๆคือ จะเน้นถ่ายภาพเอาภาพมาให้ทุกคนได้ดู

เอาจริง ๆ นะ ทำงานแบบนี้ผมสนุก ผมได้ศึกษาเรียนรู้และเอามาแบ่งปัน และเอาจริง ๆ คือรายได้ที่เราได้รับมันก็สูงอยู่นะสำหรับสายอาชีพนี้ แต่มันยังมีความท้าทาย

รงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ทีมวิจัยนก คุณฝ้าย นักปักษีวิทยา

ความกลัวที่คนมักมองว่า สายนี้จบมาไม่มีงานทำ

สำหรับฝ้าย มองว่า เอาจริงๆ นักวิจัยนกในไทยมีน้อยมาก หาคนทำสายนี้ยาก คนที่จะติดตามพฤติกรรม หรือศึกษาเรื่องนกจริงจังมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะมาทำงานตรงนี้มีเยอะมาก ฝ้ายเชื่อว่าทุกการพัฒนาทุกการกระทำใดๆมันต้องมีพื้นฐานมาจากความรู้ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีความรู้พื้นฐานที่เราเข้าไปศึกษา เราเข้าไปเสาะหาในพื้นที่จริง ๆ เลย เราก็จะไม่สามารถนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาต่อไปได้

งานวิจัยสำคัญมาก ๆ เราทำงานข้อมูล เราเก็บข้อมูลเพื่อให้หลายองค์กรนำไปใช้ นำไปวิเคราะห์ แต่สำหรับฝ้ายมองว่า ที่มันถูกมองว่าเป็นงานที่หารายได้ยาก ส่วนหนึ่งมาจาก งานวิจัยส่วนใหญ่ต้องได้รับการสนับสนุน ด้านเงินทุนต่าง ๆ ซึ่งในไทย เรื่องเงินทุนยังยากอยู่ บางหน่วยงานยังไม่ได้สนับสนุนมากขนาดนั้น ซึ่งก็ทำให้เราทำงานลำบาก รวมไปถึงในเรื่องของอุปกรณ์และค่าเสียเวลาด้วย

ในต่างประเทศคนที่ทำสายนี้ได้ ทำข้อมูลต่างประเทศเขาเยอะกว่า แน่นกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเขามีทุนสนับสนุน เราจึงมองเห็นกันได้ชัดว่า ทำไมเงินทุนประเภทนี้ถึงมาจากต่างประเทศซะเป็นส่วนหนึ่ง แน่นอน เพราะพวกเขามองว่า การหาข้อมูลจากการลงพื้นที่จริง งานวิจัยจากสิ่งที่เราได้พบเจอเองจริงๆแบบนี้มันสำคัญในการศึกษาและการนำไปพัฒนา และในอนาคตก็หวังว่า หน่วยงานจะเริ่มมองเห็นความสำคัญของงานวิจัยและเข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

และฝ้ายก็เชื่อว่า มันจะเป็นงานที่มีประสิทธิภาพในอนาคตได้ เพราะการแข่งขันตอนนี้ยังน้อยและหลายภาคส่วน หรือสากลเองก็ตามก็ต้องการข้อมูลเหล่านี้เยอะ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องนก ยังมีงานวิจัยอีกหลายเรื่องให้เราสนใจไปทำ ก็แล้วแต่ความชอบของเราเลย

สรุปโดยผู้เขียน

ในความจริงแล้ว มุมมองเกี่ยวกับงานอนุรักษ์ยังคงมีภาพลักษณ์ของการทำงานด้วยใจ การทำงานที่ได้รายได้ไม่คุ้มค่าเสี่ยง แต่โลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะองค์กร หรือหน่วยงานไหน ๆ ก็กำลังจับจองผู้คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่ เพราะโลกกำลังเดินหน้าสู่การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก ว่าเราจะทำยังไงให้โลกของเราคงอยู่กับมนุษย์ไปได้อีกนานแสนนาน

โลกใบนี้กำลังถูกทำร้ายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและจากน้ำมือของมนุษย์เราเอง ทั่วโลกจึงประชุมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยโลก และงานอนุรักษ์ งานด้านสิ่งแวดล้อมกำลังมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด และสามารถอยู่ได้ทุกแขนงของทุกสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หมอ วิศวกร ดีไซเนอร์ สถาปัตยกรรม อุตสาหกรรม ธุรกิจค้าขาย นักพัฒนาซอฟแวร์ นักพัฒนาเมือง นักสังคมสงเคราะห์ และอีกมากมาย จนเรียกได้ว่ามันสามาถไปได้ทุกแขนงวิชาชีพเลย จึงไม่แปลกที่ในอนาคต งานด้านสิ่งแวดล้อมกำลังก้าวขึ้นมาเป็นอาชีพสุดฮิตอันดับต้น ๆ ของโลกในไม่ช้านี้

related