SHORT CUT
ถึงเวลางัดไอเดียกันแล้ว วันที่ 30 ก.ย. นี้ NASA จะเปิดให้ส่งไอเดียการกำจัดขยะบนดวงจันทร์ โดยจะเน้นไปที่ขยะอินทรีย์ ใครชื่นชอบอวกาศ และมีไอเดียเจ๋ง ๆ อย่ารอช้า SPRiNG ชวนอ่านความเป็นมา และรายละเอียดทั้งหมด
ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยฝันใหญ่ว่าจะไปเยือนดวงจันทร์ และในช่วงปลายทศวรรษ 1960s ยานอพลอลโล 11 ของสหรัฐฯ ก็ทำได้สำเร็จ ถือเป็นชาติแรกในโลก (และนอกโลก) จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลากว่า 55 ปี ยังไม่มีชาติใดที่สามารถส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ
แต่ถ้าพูดถึงการส่งยานอวกาศไปแลนดิ้งลงบนดวงจันทร์ มีอยู่ 5 ชาติด้วยกันที่ทำได้สำเร็จ ได้แก่ สหภาพโซเวียต, สหรัฐฯ, อินเดีย, จีน และล่าสุดคือญี่ปุ่น แต่รู้หรือไม่ว่า การแข่งขันเยือนดวงจันทร์ของมนุษย์ ก่อให้เกิดขยะทิ้งร้างไว้บนนั้นมากมาย
ข้อมูลจาก SPACE ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ณ เวลานี้ ดวงจันทร์อาจเฟื่องไปด้วยขยะอวกาศ (space junk) อาทิ ดาวเทียมที่หมดอายุ ยานอวกาศที่ใช้แล้วทิ้ง หรือเศษซากที่หลงเหลือภารกิจต่าง ๆ แต่ต้องบอกว่าขยะอวกาศไม่ได้นอนเต้งเท้งอยู่บนดวงจันทร์ แต่ส่วนใหญ่จะลอยอยู่รอบ ๆ หรือลอยอยู่ในวงโคจรระหว่างโลกกับดวงจันทร์
ปัญหาคือ หากมีขยะอวกาศอยู่รอบดวงจันทร์มากเกินไป อาจสร้างความอันตรายให้กับนักบินอวกาศได้ในอนาคต เนื่องจากมีความพยายามที่จะพามนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์ จากทั้งภาครัฐก็ดี หรือภาคเอกชนก็ดี การทิ้งขยะมั่วซั่ว หรือการใช้หลุกอุกกาบาตบนดวงจันทร์เป็นสถานที่ฝังกลบ ไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืน
จึงเป็นที่มาว่าทำไม NASA จึงเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถนำเสนอไอเดียวิธีจัดการขยะบนดวงจันทร์ แต่ต้องบอกว่า NASA ไม่ได้คิดหาวิธีกำจัดขยะชิ้นใหญ่จำพวกดาวเทียม หรือยานอวกาศ แต่เป็นขยะจำพวก บรรจุภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้าทิ้งแล้ว หรือวัสดุที่หลงเหลือจากการทดลอง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคือ NASA วางแผนที่จะส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์อีกครั้งกับภารกิจArtemis II ในเดือนกันยายน ปี 2025 ข้อมูลจาก IFL Science ระบุว่า NASA ก้าวล้ำไปอีกหนึ่งสเตปนั่นคือ จะคิดหาวิธีรีไซเคิลขยะอวกาศเหล่านี้ด้วย
Amy Kaminski ผู้บริหารโครงการ Prizes, Challenges, and Crowdsourcing ของ NASA กล่าวในแถลงการณ์ว่า "การดำเนินงานอย่างยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ NASA พิจารณา ด้วยความท้าทายนี้ เราจึงเปิดรับไอเดียสุดสร้างรรจากสาธารณชนในการจัดการขยะบนดวงจันทร์ และจะนำบทเรียนที่ได้เรียนรู้กลับมาใช้บนโลกเพื่อประโยชน์ของทุกคน”
เอาเป็นว่าใครมีไอเดียดี ๆ ก็ลองดู เพราะหากไอเดียของคุณได้รับการคัดเลือก และเป็นผู้ชนะ เงินรางวัล 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท จะเข้ากระเป๋าคุณทันที ไม่จำกัดเพศ อายุ และเชื้อชาติ ใครมีของก็ลองดู
อย่างไรก็ดี NASA จะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 30 ก.ย. นี้ หมดเขตส่งไอเดียภายในวันที่ 31 มี.ค. 2025 และจะมีการประกาศผู้ชนะในเดือนพฤษภาคม
ที่มา: IFL Sciece, SPACE
ข่าวที่เกี่ยวข้อง