SHORT CUT
ภาคธุรกิจไทยเดินหน้ารักษ์โลก สมาคมธนาคารไทย เผย แบงก์ หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ชี้มีความต้องเม็ดเงินถึง 4-5 แสนล้านต่อปี ลุยเฟส 2 เจาะลูกค้าภาคก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร และจัดการของเสีย
จากนี้เป็นไปต้น และตลอดกาล หากธุรกิจไหนไม่รักษ์โลกจะอยู่บนสังเวียนการค้า การลงทุนยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจไม่มีใครซื้อของ และทำการค้าขายกับคุณ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาคธุรกิจไทยต่างเร่งปรับตัวกันฝุ่นตลบ สะท้อนได้จากยอดความต้องการสินเชื่อสีเขียวที่แบงก์ปล่อยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี อย่างล่าสุด นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย หัวหน้าคณะสนับสนุน แผนยุทธศาสตร์กลุ่มที่ 4 Theme Sustainability สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ไทยได้เตรียมความพร้อมในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Resilience) โดยจะดำเนินการตามปฏิญญาสากลที่ให้ไว้ในการประชุม COP26 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
จากเรื่องดังกล่าวการที่จะไปให้ถึงจุดนั้นภาคการเงินคือส่วนสำคัญที่จะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเปลี่ยนผ่านและสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงินได้มีโพรดักส์ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ค่อนข้างใหม่ ที่เรียกว่า ESG Finance หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับมิติด้านความยั่งยืน (Sustainable Finance Products)
ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการ Taxonomy ในเฟสที่ 1 ยังครอบคลุมเพียงแค่ 2 ภาคอุตสาหกรรมคือ ภาคพลังงานและภาคขนส่ง ซึ่งเวลานี้อุตสาหกรรมในภาคพลังงานของไทยที่มีโครงสร้างอยู่ในกลุ่มสีเขียวจริง ๆ มีสัดส่วนประมาณ 10-12% ของภาพรวม ส่วนอีก 50-60% จะเป็นกลุ่มสีเหลือง และอีกประมาณ 20% เป็นกลุ่มสีแดง ดังนั้นจึงมีความต้องการทั้งจากฝั่งภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ และเป็นโอกาสทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในการที่จะช่วยให้กลุ่มธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนผ่าน
สำหรับระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามมิติด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะที่ 2 (Thailand Taxonomy : Phase II) ที่จะเป็นเป้าหมายต่อไปของภาคการเงินที่จะให้การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในเฟสที่ 2 นี้จะครอบคลุมภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และภาคส่วนอื่น ๆ (อุตสาหกรรมการผลิต, การเกษตร, การจัดการของเสีย) รวมในเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 90% ของภาพรวมประเทศ
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมีความต้องการในเรื่องของการที่จะระดมเงินทุน เข้าสู่ธุรกิจเขียว แดง และเหลือง โดยที่ผ่านมากรีนบอนด์ หรือ ESG Bonds มีการออกในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2018 (2561) ปีล่าสุดมีการออกกรีนบอนด์ประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท
ปัจจุบันยอดรวมสะสมของหุ้นกู้ที่มีความเชื่อมโยงในเรื่องมิติของความยั่งยืนสูงถึง 3.5 แสนล้านบาท(ยอดคงค้างของ ESG หรือหุ้นกู้ ESG ในตลาดไทย) ซึ่งเริ่มจาก 7,000 ล้านบาทถือว่ามากพอสมควร แต่ก็ยังไม่มากพอเพราะมีความต้องการถึง 4-5 แสนล้านบาทต่อปีในการลงทุน ซึ่งภาคการเงินจะให้การสนับสนุนภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
9 สถาบันการเงิน เชื่อมั่นพร้อมปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กลุ่ม EA ปลดล็อกการเงิน!
หนี้เสียอสังหาฯ พุ่ง 'สินเชื่อบ้าน' ดิ่งเหวแบงก์ปฏิเสธสินเชื่ออื้อ วิบากกรรมอสังหาฯไทย
แบงก์ปล่อยสินเชื่อสีเขียว 10,000 ล้าน หนุนเอกชนสู่ Sustainability