SHORT CUT
ประวัติศาสตร์สวนสัตว์ จากงานสะสมสิ่งมีชีวิตของคนรวย สู่สถานที่ท่องเที่ยวของครอบครัว และมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ในป่า
สวนสัตว์เป็นสถานที่ของสัตว์ ในกรงขังและจัดแสดงให้สาธารณชนได้ชม โดยคำว่า ZOO ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นคำย่อมาจาก ZOOLOGICAL PARK ที่หมายถึงสถานที่ของสัตว์หลากหลายชนิดทั่วโลกมาอยู่รวมกันในพื้นที่จำกัด
ประวัติศาสตร์ของสวนสัตว์สามารถย้อนกลับไปได้ถึงอารยธรรมอียิปต์โบราณ ในช่วง 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ผู้เป็นฟาโรห์จะให้คนรับใช้ 'จับสัตว์ป่า' เพื่อมาแสดงถึงความมั่งคั่งและอำนาจของผู้ปกครอง การขุดค้นทางโบราณคดีในเมือง Nekhen ได้พบอาคารเก่าแก่ต่างๆ ที่บรรจุ กระดูกของลิงบาบูน ซากฮิปโป ไปจนถึงชิ้นส่วนของช้างแอฟริกา ซึ่งทั้งหมดมีร่องรอยของการบาดเจ็บ และอาจมีอายุสั้น เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม
ส่วนสวนสัตว์ที่ค้นพบในเอเชียแรก ๆ อยู่ในประเทศจีน ประมาณ 1,060 ก่อนคริสตกาล สมัย ‘จักรพรรดิเหวินกวาง (Emperor Wen-Wang) ’ ซึ่งเรียกว่า “Ling-Yu (สวนแห่งสติปัญญา)” มีพื้นที่ 1,300 เอเคอร์ ที่มีทั้งกวาง นก และปลาหลายชนิดอาศัยอยู่
ส่วนในยุโรป พระเจ้าเฮนรีที่ 1 แห่งอังกฤษ (Henry I of England) ได้สร้างสวนสัตว์ขึ้นราวปี ค.ศ 1110 โดยใช้ที่ดินของราชวงศ์ในเขตอ็อกซ์ฟอร์ดเชียร์ มีทั้งเสือ อูฐ สิงโต และเม่น ก่อนจะย้ายไปที่หอคอยแห่งลอนดอนในปี ค.ศ. 1235 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พระเจ้าเฮนรีที่ 3 (Henry III of England) ได้รับสิงโตสามตัวจากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และกรงขังสัตว์เหล่านั้น ยังคงถูกเก็บรักษาอยู่ในหอคอยลอนดอน จนถึงทุกวันนี้ เพื่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์
เมื่อถึงยุคแห่งการสำรวจในศตวรรษที่ 15 นักสำรวจจากยุโรปได้จับสัตว์หายากมากมายเมื่อเดินทางไปทั่วโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคเขตร้อนที่เป็นพื้นที่ใหม่สำหรับพวกเขา ส่งผลให้มีการจัดตั้งสวนสัตว์ขึ้นในเมืองต่างๆ ของยุโรปจนเป็นเรื่องปกติ เพื่อแสดงสถานะและอำนาจของตัวเอง ยิ่งที่ขังสัตว์มีขนาดใหญ่ และมีสัตว์หลายชนิด ก็ยิ่งบ่งบอกถึงอำนาจของผู้เป็นเจ้าของ
แต่สวนสัตว์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นับเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เพราะเจ้าของสวนสัตว์ ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์แม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ช้าง ลิง สิงโต ลิงบาบูน หรือแม้กระทั่งหมีขั้วโลก ก็ต้องอยู่ในกรงแคบๆ ที่สภาพแวดล้อมต่างจากบ้างเกิด และสมัยนั้นสัตว์ในกรงตายถือเป็นเรื่องปกติ เพราะย้ายตัวใหม่เข้ามาได้เรื่อยๆ เนื่องจากผู้มั่งมองว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็น สิ่งที่มีไม่หมดสิ้น และสัตว์ที่ป่วย ใกล้ตาย หรือไม่ทำเงินให้กับสวนสัตว์ จะถูกขายให้กับฟาร์มล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงอีกด้วย
ความอยากอวดร่ำอวดรวยของคนในอดีต ไม่ได้หยุดความหลงใหลไว้ที่พันธุ์สัตว์เท่านั้น แต่พวกเขายังหลงใหลในชาติพันธุ์ของมนุษย์ด้วย ในระหว่างปี 1870 -1900 มีการจัดแสดงที่คล้ายสวนสัตว์มนุษย์ในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และชาติตะวันอื่นๆ หลายครั้ง โดยจะนำชาวแอฟริกา อินเดียนแดง ชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้ ไปจนถึงชาวเอเชีย มาไว้ในกรง หรือสนามกีฬาเพื่อให้คนขาวดูพวกเขาทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งตอกย้ำอุดมการณ์เรื่องลำดับชั้นเชื้อชาติและความเหนือกว่าทางวัฒนธรรมในหมู่ผู้ชมทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่สุดท้ายความนิยมของสวนสัตว์มนุษย์ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนสัตว์ต่างๆ เริ่มมีรูปแบบที่ทันสมัย และตระหนักถึงการอนุรักษ์ยิ่งกว่าเดิม สิบเนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วงการศึกษาเริ่มยอมรับ ‘วิทยาการอนุรักษ์’ เป็นสาขาวิชาหนึ่ง จึงนำมาสู่การปฏิรูปสวนสัตว์ครั้งใหญ่ มีการจัดตั้งแผนกวิจัยและเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สู่สาธารณชน ทัศนคติใหม่นี้ทำให้สวนสัตว์ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละชนิดมากขึ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่ดูแลก็ต้องมีความเชี่ยวชาญมากกว่าแต่ก่อน
ปัจจุบัน เป้าหมายการมีอยู่ของสวนสัตว์ทั่วโลก นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ของคนทั่วไปแล้ว ยังเป็นโครงการเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อปล่อยกลับสู่ธรรมชาติอีกด้วย เพราะเช่นสวนสัตว์ในแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา มีการปล่อยแร้งแคลิฟอร์เนีย นกขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปตามชายฝั่ง กลับสู่ถิ่นที่อยู่ หลังจากเพาะพันธุ์ในสวนสัตว์เป็นจำนวนมาก
หรือสมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (AZA) ได้ร่วมมือกับผู้คนในชนบท ของปาปัวนิวกินีเพื่อช่วยเหลือจิงโจ้ต้นไม้ที่ถูกล่าเป็นอาหาร ด้วยการนำมาอยู่ในศูนย์อนุรักษ์
ทว่าการมีอยู่ของสวนสัตว์ ก็ยังถูกมองว่าไร้ประโยชน์จากคนที่ต่อต้านแบบหลังชนฝา เพราะการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยฟื้นฟูได้เพียงเล็กน้อย แต่ไม่อาจแก้ปัญหาการสูญพันธุ์แบบยั่งยืนได้ และการขังสัตว์ไว้ในกรงก็ถือว่าโหดร้าย โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ต้องการพื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต
ที่มา : National Geographic, Noah's Ark Zoo Farm, The Conversation
ข่าวที่เกี่ยวข้อง