SHORT CUT
ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการรักษ์โลก และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และชูว่า ESG คือสามัญสำนึกของธุรกิจ ดังนั้น Sustainability Zone จึงเกิดบนธุรกิจไมซ์-งานจัดแสดงสินค้าในไทย ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท/ปี
ปัจจุบันภาคธุรกิจทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และ ESG เพราะจะต้องไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2030 พร้อมกันนี้ประเทศไทยยังได้มีการประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
ทำให้ความท้าทายนี้มีผลทำให้เกิดความร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ประชาชน ภาคธุรกิจ ซึ่งหากไม่เร่งเริ่มเดินหน้าก็อาจถูกกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศในอนาคตได้ ในขณะเดียวธุรกิจต่างประเทศที่เดินทางมาจัดงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการจัดประชุมและสัมมนา หรือ ธุรกิจไมซ์ รวมถึงงานจัดแสดงสินค้านานานชาติ ต่างถามไถ่เข้ามาเข้าเรื่องรูปแบบการจัดงานว่ามีความรักษ์โลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่?
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการจัดงานแสดงสินค้าเทรนด์ที่กำลังจะมา คือ การจัดงานแบบรักษ์โลก ซึ่งหากจะพูดถึงธุรกิจการจัดประชุมและสัมมนา ธุรกิจไมซ์ งานจัดแสดงสินค้า ไทยถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมจากนานาชาติ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเพียบพร้อมในทุกๆด้าน รู้หรือไม่? ธุรกิจไมซ์ในไทยสร้างมูลค่าเข้าประเทศปีละจำนวนมหาศาล สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ แม่ทัพใหญ่ในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เผยว่า ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 ดึงนักเดินทางไมซ์ 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท พร้อมชูจุดขายจุดเริ่มต้นของเป้าหมาย Springboard of Asia’s Growth นั้น ทีเส็บจะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ งานเทศกาลนานาชาติ (Festival) , การแสดงสินค้านานาชาติ , ตลาดไมซ์ในประเทศ
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมไมซ์ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วงหลังโควิด-19 ระบาด แต่เทรนด์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปเช่นกัน หันมารักษ์โลกมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมไมซ์ ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization Pathways) โดยครอบคลุมการลดและเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากการจัดงาน (Carbon Reduction and Avoidance) อันจะนำไปสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)
ทั้งนี้ธุรกิจไมซ์ นำแนวคิดรักษ์โลกมาใช้ยกระดับสถานที่จัดงานให้เป็น Green Venue ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการประหยัดพลังงานภายในงาน และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำเรื่อง "Eco-Friendly" มาเป็นคอนเซ็ปต์หลักของงาน รวมถึงการจัดการและลดปริมาณขยะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ช่วยสร้างรากฐานความยั่งยืน (Sustainability) ให้แก่โลก อีกทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ให้กับองค์กร ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
วันนี้จะพามาดูตัวอย่างการจัดงานไมซ์ และงานจัดแสดงสินค้าของภาคเอกชน ที่หันมารักษ์โลกมากขึ้น ที่ดำเนินการภายใต้ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด โดย นายกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด เปิดเผยว่า การจัดงานแสดงสินค้าในไทยปัจจุบันนี้ผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วมหันให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ภาครัฐบาลโดยในส่วนของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการองค์การมหาชน ได้ร่วมมือกันกับสมาคมการจัดงานแสดงสินค้าไทยอหรือ (TEA) ในการที่จะขอความร่วมมือจากผู้จัดงานทั้งหมดให้ความสำคัญและก็ใส่ใจในการรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็เริ่มทำกันมาได้ปีสองปีแล้ว
แต่ในปี2567 นี้จะเริ่มเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเทรนด์นี้เป็นเทรนด์ที่มาจากโลกตะวันตก จากอเมริกา และยุโรป และขณะนี้ก็มาถึงเอเชียรวมทั้งบ้านเรา เพราะว่าเราทุกคนใส่ใจในเรื่องของการช่วยกันรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นปี 2567 เราได้จัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจพร้อมกัน 4 งาน ประกอบด้วย Thailand Franchise & Business Opportunity (TFBO 2024) หรือ งานแสดงแฟรนไชส์นานาชาติและโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด Thailand Retail, Food & Hospitality Services (TRAFS 2024) งานแสดงเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องใช้ วัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและ Food Service ASEAN RETAIL 2024 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี และบริการแบบครบวงจรเพื่อธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ปิดท้ายด้วย Pub & Bar Asia 2024 งานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจโรงแรม ร้านไฟน์ไดนิ่ง ผับ บาร์และสถานบันเทิงโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2567 ณ อาคาร 101-104 ไบเทค บางนา
“ปีนี้เราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก วัสดุที่ใช้ในงานส่วนใหญ่ของเราเป็น 2 อย่าง คือ หนึ่งเป็นวัสดุรีไซเคิล อย่างเช่น โครงสร้างบูธก็เรียกว่าทำเสร็จแล้วสามารถเอาไปใช้งานต่อได้ ส่วนที่สอง วัสดุตกแต่งเราเริ่มใช้กระดาษมากขึ้นลดการใช้พลาสติก การตกแต่งข้างในเราก็จะเลือกใช้วัสดุที่ทำจากวัสดุที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเราก็ยังมีการสนับสนุนมีการจัดโซนในงานซึ่งจะมีอยู่สองส่วนด้วยกันส่วนที่หนึ่งเราเรียกว่า Sustainability Zone เรามีการให้ผู้แสดงนำเอานวัตกรรมสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเอามาโชว์ เรามีการจัดประกวดโดยเชิญให้โรงแรมต่างๆ ที่เขาเอาวัสดุเหลือใช้ของเขาไปทำเป็นผลิตภัณฑ์หรือวัสดุขึ้นมาเพื่อเอามาใช้ประโยชน์แล้วเราก็เชิญให้เขาเอาสินค้าของเขาที่เขารีไซเคิลแล้วมาโชว์โดยจะมีการตัดสิน ก็มีโรงแรมเข้าประกวด 10 กว่าโรงแรม ส่วนใหญ่ก็จะเป็น 4 ดาว กับ 5 ดาว ที่เข้ามาเพราะว่าโรงแรมเหล่านี้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก แล้วผู้ชนะประกวดเราก็จะมีรางวัลถ้วยรางวัลของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการมอบให้กับโรงแรมเพื่อเป็นเกียรติประวัติในการที่เขาจะไปประชาสัมพันธ์ว่าโรงแรมเขาได้ให้ความร่วมมือและก็ชนะการประกวด”
สำหรับต่างประเทศที่เข้ามาจัดงานที่ไทย เช่น ปี2567 นี้มีมาทั้งหมดประมาณ 10 ประเทศ แต่ละประเทศก็เริ่มมีการใช้วัสดุรีไซเคิลเข้ามาในการจัดงาน จะเห็นได้ว่าไม่เพียงแค่ไทยที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG ต่างประเทศที่เข้ามาจัดงานแสดงสินค้าในไทยก็ให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะ ESG มันเป็นในเรื่องของสามัญสำนึกของผู้จัดงานเขามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และส่วนตัวยังมองอีกว่า ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจเพราะหลายเรื่องมันมาเร็ว
และเป็นเรื่องใหม่เราพูดกันเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาหลายปีแต่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็เมื่อสักสองปีที่ผ่านมา กระบวนการเรียนรู้อาจจะต้องใช้เวลาสักสองสามปีเพื่อที่จะทำให้มันเป็นวงกว้างขึ้น เพราะตอนนี้มันยังเป็นวงแคบของผู้ประกอบการแต่ยังลงไปไม่ถึงระดับรากหญ้า เพราะถ้าลงไปถึงระดับรากหญ้าคนคงจะลดการใช้พลาสติกมากขึ้น
อย่างไรก็ตามสำหรับ 4 งานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติ ด้านเฟรนไซส์ ค้าปลีก อาหาร-เครื่องดื่ม โรงแรม ผับและบาร์ ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ONE STOP HOTEL/ FOOD SERVICE/ PUB AND BAR / RETAIL /FRANCHISE SOLUTIONS” โดยกวิน อินเตอร์เทรด ร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศรวม 330 บริษัท โดยได้รับเกียรติจาก คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นประธานเปิดงานอย่างเป็นทางการ
พร้อมกันนี้มีการขนทัพสินค้าและนวัตกรรมกว่า 10,000 รายการ จาก 10 ประเทศมาร่วมงาน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงกิจกรรมพิเศษมากมาย มุ่งหวังการจัดงานอย่างยั่งยืนช่วยส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ คาดผู้ร่วมงานราว 25,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก และมีเงินสะพัดกว่า 500 ล้านบาท
เชื่อว่านับจากนี้ไปธุรกิจไมซ์ และงานจัดแสดงสินค้าจะเติบโตไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน หากผู้ประกอบการไทยร่วมมือกันปกป้องโลกขนาดนี้!
ข่าวที่เกี่ยว