SHORT CUT
สวทช. สวก. มูลนิธิ SOS และพันธมิตร เปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) สร้างต้นแบบการส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มเปราะบาง มุ่งลดขยะอาหาร ลดการปล่อยก๊าซมีเทน และสร้างการเข้าถึงอาหารได้อย่างยั่งยืน
ขยะอาหาร เป็นอีกหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกร้อน จึงทำให้ภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาวิธีจัดการกับมัน รวมถึงการลดขยะจากการทำโครงการต่างๆ อย่างเช่น ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เปิดตัว "โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank)" การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้เพื่อสร้างเพื่อสร้าง ต้นแบบระบบการบริหารจัดการอาหาร ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมไทย มุ่งลดปริมาณขยะอาหารด้วยการจัดการอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร โดย "ขยะอาหาร" เป็นปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินสูงถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ยังมีประชากรกลุ่มเปราะบางกว่า 3.8 ล้านคนประสบปัญหาการเข้าถึงอาหาร
โดย สวทช. ได้ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอาหารส่วนเกินและลดความเสียหาย รวมถึงจัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค สนับสนุนนโยบาย BCG ด้านอาหารของรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศไทยมีอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีโภชนาการที่ดีและเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน ส่งเสริมเป้าหมายด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ลดการสูญเสียอาหาร และลดการเกิดขยะอาหาร และเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริจาคและผู้รับบริจาค สนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารส่วนเกินขยายวงกว้างขึ้น
ทางด้าน มูลนิธิ SOS ในฐานะผู้ดำเนินงานหลักด้านการส่งต่ออาหารส่วนเกิน ระบุว่า จากการดำเนินงานจนถึงปัจจุบันได้ส่งต่ออาหารไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัม หรือราว 35 ล้านมื้อ ให้กับชุมชนมากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 21,166 ตัน แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของระบบที่ช่วยกอบกู้และส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตามการเปิดตัวธนาคารอาหารครั้งนี้เป็นต้นแบบให้เห็นระบบการส่งต่ออาหารส่วนเกินไปยังกลุ่มเปราะบาง พร้อมทั้งเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของปัญหาขยะอาหารและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสร้างสังคมไร้ขยะอาหารนอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน จากมุมมองของผู้บริจาคอาหาร ผู้นำชุมชน และโครงการอื่นๆ อาทิ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้ขยะอาหารและมีความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โลกทิ้ง ‘ขยะอาหาร’ ปีละ 1,000 ตัน ธุรกิจไทยเร่งลดขยะประเภทนี้!
“Too Good To Waste” กินหมด ลดโลกร้อน ปลุกคนรุ่นใหม่ลดขยะอาหาร