SHORT CUT
วันสงกรานต์ 2567 เทศกาลสำคัญของไทย ที่ประชาชนร่วมออกมาสาดน้ำกันอย่างเมามันส์ ได้เปียกกันแบบฉ่ำ ๆ ทว่า ปัญหาขยะ เป็นเรื่องที่แก้ไม่ตกอยู่ทุกปี วันสงกรานต์ที่ไร้ขยะ จะเป็นได้จริงไหม ติดตามได้ที่บทความนี้
วันสงกรานต์ปีนี้ มีแพลนไปไหนกันบ้าง จะเล่นน้ำ 21 วันรึเปล่า อากาศร้อน ๆ แบบนี้บางคนอาจเลือกนอนตีพุงอยู่บ้าน ใช้เวลากับครอบครัว บ้างเข้าวัดทำบุญ หรือบ้างก็พับเสื่อกลับบ้านที่ต่างจังหวัด
สำหรับใครที่ยังอยู่ กรุงเทพฯ มหานครหลวงแห่งประเทศไทย ก็จะเห็นว่า ณ เวลานี้ ท้องถนนเงียบเหงาเป็นพิเศษ ขณะที่ แลนด์มาร์คสำคัญ ๆ ประจำวันสงกรานต์ ฮ็อตฮิตอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่า วันสงกรานต์เป็นอีเวนท์ที่คนไทย รวมถึงชาวต่างชาติให้ความสำคัญ
แต่...
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องที่ติดตามมาเหมือนเป็น "ผี" ประจำวันสงกรานต์เลยคือ "ขยะ" ขวดพลาสติก ถังน้ำ ซองดินสอพอง ปืนฉีดน้ำ ถุงลูกชิ้น หลอด อ่วมให้เห็นกันอยู่ทุกปี
ยกตัวอย่างเช่นในปีที่ผ่านมา ถนนข้าวสาร หนึ่งในสถานที่ยอดฮิตที่เป็นแหล่งแลนด์มาร์คประจำเทศกาลสงกรานต์ ถูกรายงานว่า เกิดขยะวันละ 240 ตัน เทียบกับวันธรรมดาซึ่งเกิดขยะวันละ 190 วัน
สำหรับปีนี้ คงต้องมาลุ้นกันว่าจะเกิดขยะมากแค่ไหน แต่ระหว่างนี้ สปริงได้ต่อสายไปยัง สมบูรณ์ กิตติอนงค์ หรือ พี่สมบูรณ์จาก ผู้ซึ่งใกล้ชิดกับขยะ และเปิดเพจสื่อสารเรื่องขยะ N15 Technology เพื่อหาคำตอบว่า สงกรานต์ไร้ขยะ จะเป็นไปได้แค่ฝันเฟื่องหรือไม่?
ในวันสงกรานต์ นอกเหนือจากการปะแป้ง เล่นน้ำ หรือลูบไล้เนื้อหนังกันทั้งวี่ทั้งวันแล้ว สุดท้ายก็หนีไม่พ้นอาการเหนื่อยล้า เช่นเคย เมื่อเราเหนื่อย เรามักตัดสินใจด้วยตรรกะเหตุผลน้อยลง และต้องหาอะไรรองท้อง
จึงไม่แปลกที่พ่อค้าแม่ขายถึงได้จับเงินหมื่นเงินแสนในช่วงสงกรานต์ ท้องหิวจนเศรษฐกิจสะพัดไม่เกินจริง สถานการณ์นี้เองที่ก่อบังเกิดขยะจำนวนมหาศาล ทั้งขยะจากบรรจุภัณฑ์ เช่น ถุงลูกชิ้น ขวดน้ำพลาสติก ถุงขนม กล่องข้าวโฟม หรือถังน้ำที่พกมาปะแป้งก็อาจทิ้งไปเลยเดี๋ยวนั้น
ด้วยบริบทนี้ จะมีสักกี่คนกันเชียวที่ฉุกคิด หรือมีสามัญสำนึกมากพอที่จะทิ้งขยะให้ลงถัง หรือยิ่งไปกว่านั้นคือทิ้งขยะให้ถูกถังตามสีของขยะแต่ละประเภท
“ของพวกนี้มันเลี่ยงยากมากเลย ยิ่งในช่วงประเพณี เทศกาล เพราะถึงเวลาจริง คนก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องขยะหรอก คนใส่ใจเรื่องของความสุข ณ เวลานั้น”
“มันเหมือนแม่ปูสอนลูกปู เราก็ได้แต่พร่ำบ่นไปแบบนี้ เพราะเราไม่ได้มีกฎหมาย อย่างเช่นไปสิงคโปร์ทุกคนรู้หมด มีขยะปุ๊ปเก็บใส่กระเป๋าเลย บุหรี่ห้ามสูบ ถ้าสูบโดนจับเข้าคุก แบบนี้เลยไม่มีใครกล้า กลับกัน เมืองไทยไม่มีกฎหมาย คนทิ้งขยะเขาก็ไปไหนต่อไหนแล้ว”
"เพิ่มถังขยะยังไม่พอ ต้องมีคนดูแลด้วย ถ้าไม่ดูแล ก็เละ ต้องจ้างคนมาสอนคัดแยกขยะเลย ช้อน ขนม เศษอาหาร ต้องแยกนะ ไม่งั้นมั่ว เผลอแปปเดียว หันมาอีกที เอาทิชชู่ไปทิ้งในเศษอาหารแล้ว"
“ไอเทมทุกชิ้นที่เราพกไปเล่นน้ำในวันสงกรานต์ สุดท้ายแล้วกลายเป็นขยะหมดเลย”
นอกเหนือจากพวกขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์ ที่เราน่าจะเลี่ยงได้ยาก หากว่ากันจริง ๆ ไอเทมวันสงกรานต์ก็ล้วนจะกลายเป็นขยะแทบทั้งสิ้น ไม่ช้าก็เร็ว อุปกรณ์อย่างเช่น ปืนฉีดน้ำ แว่นตากันน้ำ ซองกันน้ำ ถังใส่น้ำ และที่สำคัญที่สุดคือ ดินสอพอง
ในกรณีของปืนฉีดน้ำ ซึ่งราคาค่างวดย่อมถูกแพงไม่เท่ากัน บ้างเป็นพลาสติกกรอบ ก๊องแก๊ง พังง่าย ซื้อเล่น แล้วทิ้ง ณ วันนั้นเลย ขณะเดียวกัน ปืนฉีดน้ำที่ราคาสูง ก็คงทน มีระบบดีกว่า น่าสงสัยว่า เมื่อเป็นแบบนี้ ปืนฉีดน้ำจะยังเป็นขยะอยู่หรือเปล่า
"ปืนฉีดน้ำ เวลาฉีดแรง ๆ จนกระเดือกด้านในหักก็ต้องทิ้ง มันไม่ได้ทำมาเพื่อการซ่อม ส่วนใหญ่ถูกทำมาแบบถูก ๆ ใช้ครั้งเดียว ใช้กาวประกบร้อน"
"ปืนฉีดน้ำที่แพง ๆ ปีนี้หน้าก็อาจจะเล่นไม่ได้แล้ว เพราะสปริงหรือวาล์วน้ำมันเป็นยางนิ่ม ๆ ถ้าคุณทิ้งเอาไว้แล้วไม่ได้ใช้งานเลย มันก็ใช้การไม่ได้ ปืนฉีดน้ำดูเหมือนไม่ใช่ Single use แต่จริง ๆ แล้วมันก็ใช้ได้ครั้งเดียว แค่เทศกาลเดียว"
งั้นมาดูกันหน่อยดีกว่าว่า ไอเทมสงกรานต์ยอดฮิต ต้องทิ้งลงถังใด และแต่ละชิ้นรีไซเคิลได้ไหม มาดูกันเลย
แว่นตากันน้ำ
ปืนฉีดน้ำ
ซองกันน้ำ
ดินสอพอง
ถังน้ำพลาสติก
"ครั้นจะทิ้งขยะก็ให้นึกถึงกุ้งหอยปูปลา นึกถึงเต่า นึกถึงสิ่งมีชีวิตที่มันไม่รู้เรื่อง บางทีเราต้องลดความเห็นแก่ตัวลง ขยะทิ้งไปเลย เดี๋ยวก็มีคนมาเก็บ แล้วสรุปใครเก็บ"
"เริ่มจากตัวเรานี่แหละง่ายที่สุด ขยะในมือเราสะอาดที่สุด เราจะรู้ว่าขยะเหล่านี้ไม่ได้ปนเปื้อน ตัดภาพไปที่บ่อขยะ ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นเน่า ถามหน่อยว่าใครจะกล้าไปหยิบ"
"ถ้าเราแยกขยะ ทำความสะอาดมันสักหน่อย คนเก็บเขาก็กล้าเก็บ และมันไม่เหม็นด้วย แต่ถ้าเราปล่อยปะละเลย มันก็มีแต่ปัญหา"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง