SHORT CUT
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ หรือ Low Carbon Travel กำลังเป็นสิ่งที่นักเดินทางทั่วโลกมองหา แล้วการท่องเที่ยวของไทยจะรักษ์โลกยังไงได้บ้าง และทำยังไงให้ยั่งยืน?
ในทุก ๆ จุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยว ล้วนแต่มีกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ปล่อยมลพิษ และการรบกวนระบบนิเวศรอบตัวที่เราได้พาดผ่าน แต่จะดีมากขึ้น หากปัญหานี้เป็นสิ่งที่ทุกคนบนโลกตระหนักถึงและพยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเสมอเมื่อเราได้ก้าวออกเดินทาง
เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของไทย ทำยังไงให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้จัดเวทีเสวนา “เคทีซีปลุกกระแสท่องเที่ยวยั่งยืนจากไทยสู่เวทีโลก” ให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งกับอุตสาหกรรมการบิน การโรงแรมและภาครัฐของไทยว่าเราจะรักษ์โลกให้มากขึ้นได้อย่างไร
นายยงยุทธ ลุจินตานนท์ ผู้จัดการภูมิภาคประจำประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศไทย (IATA) เล่าว่า เครื่องบินเป็นเป้าหมายที่ผู้คนมักบอกว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากออกมาในการบินแต่ละครั้ง ซึ่งก็ทราบดีและพยายามแก้ไขมาตลอด
ดังนั้น ตัวการหลักคือเชื้อเพลิง ปัจจุบันโลกมีเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ เรียกว่า Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF แต่ตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนมาใช้ SAF จะทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า
ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถรองรับเครื่องบินและเครื่องยนต์ใหม่ที่รองรับ SAF ได้ 100% และมีมาตรการจูงใจอุตสาหกรรมการบินหันมาใช้ SAF มากขึ้นก็จะช่วยได้เยอะมาก
ด้านนางสาวเคอรี่ ลุย ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ก็เล่าเสริมว่า สายการบินจริง ๆ ก็มีความต้องการเชื้อเพลิง SAF เช่นกัน แต่มีความกังวลว่าเมื่อเราเปลี่ยนไปใช้ จะทำให้ค่าตั๋วแพงขึ้น ต้นทุนสายการบินจะสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับการผลักดันจากภาครัฐ
สิ่งที่คาเธ่ย์ทำได้ตอนนี้คือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เช่น มีโครงการชดเชยคาร์บอนที่ได้ปล่อยออกไป (Fly Greener) การใช้ปลอกหมอนและผ้านวมจากผ้าฝ่ายยั่งยืน 100% ในชั้นธุรกิจ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในเครื่องบินชั้นประหยัด หรือการนำนวัตกรรมกระดาษทิชชุ่ผลิตจากอ้อยมาใช้มากขึ้น รวมถึง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ 1 ผู้โดยสาร ต่อ 1 ต้น
มิสเตอร์อัวร์ส เคสเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการรถไฟยุงเฟรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แชร์ให้ฟังว่า สำหรับชาวสวิตเซอร์แลนด์ ความรักษ์โลกอยู่ใน DNA นานแล้ว หากเราอยากให้ทุกอย่างเป็นมิตรต่อโลกเราต้องออกแบบให้ตอบโจทก์แต่แรกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ดีต่อโลกและอยู่กับเราได้นาน
ปัจจุบัน พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มมองหาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ในส่วนของกลุ่มบริษัทรถไฟยุงเฟรา (Jungfrau Railway Group) จึงต้องพัฒนาให้ตอบโจทย์การเติบโต มีการกำหนดกลยุทธ์การใช้ทรัพยากรนิเวศอย่างยั่งยืน เช่น การใช้รถไฟและกระเช้าลอยฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100%
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมจัดกองทุนความยั่งยืนระยะยาวเวลา 10 ปี สำหรับการดูแลหมู่บ้านกรินเดิลวาลด์ (Grindelwald) และหมู่บ้านเลาดทอร์บรุนเนน (Lauterbrunnen) กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีแผนที่จะสร้างระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 12 เฮกตาร์บนเทือกเขาแอลป์ มีเป้าผลิตพลังงานให้ได้ 12 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี เพื่อจัดหาพลังงานให้กับ 3,000 ครัวเรือนในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาไฟฟ้าแพงที่สุด
นางสาวธันย์ชนก น่วมมะโน ผู้แทนประจำประเทศไทย การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ ก็เสริมว่า การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์เค้าได้มีการพัฒนากลยุทธ์ที่ชื่อว่า สวิสเทเนเบิล (Swisstainable) ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้อุตสาหกรรมมีเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการบังคับ
โดยเค้าจะทำการเชิญกลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยวต่าง ๆ ในสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้าร่วมแคมเปญประเมิน เพื่อรับสัญลักษณ์สวิสเทเนเบิล ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับตามความมุ่งมั่นของแต่ละองค์กร ซึ่งสิ้นปี 2567 นี้คาดว่าจะมีมากถึง 4,000 องค์กรเข้าร่วม
ในส่วนของการท่องเที่ยวประเทศไทย ดร.วาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. อธิบายว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น และก็ต้องยั่งยืนด้วย ในสมดุลครบ 3 มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ซึ่งตอนนี้มี 9 พื้นที่พิเศษได้ประกาศเป็นพื้นที่สีเขียวแล้ว โดยใช้มาตรฐานสากลมาเป็นเครื่องมือใช้วัดและพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน
นอกจากนี้ นางสาวสุวิมล งามศรีวิโรจน์ ตัวแทนสมาคม TEATA สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) ก็เสริมตรงนี้ว่า จริงที่ว่า นักท่องเที่ยวทั่วโลกกำลังมองหาการท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จากสถิติของผู้ประกอบการและบริษัทนำเที่ยว (Inbound Tour) กว่า 50% ของตลาด พบว่านักท่องเที่ยวชาวตะวันตกมีการประเมินที่พักในด้านคุณธรรม สังคมชุมชน ความปลอดภัย และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก่อนที่จะเลือกใช้บริการ สะท้อนว่า นักท่องเที่ยวมีความต้องการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำมากขึ้น
นางสาวพัทธ์ธีรา อนันต์โชติพัชร ผู้บริหาร KTC World Travel Service และการตลาดสายการบิน เคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า เพื่อให้คนไทยท่องเที่ยวไทยแบบคาร์บอนต่ำได้ง่ายขึ้น จึงมีบริการด้านการท่องเที่ยวให้กับสมาชิกบัตรเคทีซี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
อาทิ ให้ข้อมูลทุกการท่องเที่ยวผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเคทีซี และร่วมมือกับพันธมิตรท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์กรีนโปรดักส์ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน หรือในด้านการเดินทาง อาทิ บัตรรถไฟ บัตรรถราง รถเช่าไฟฟ้า (EV) และแพคเกจท่องเที่ยวชุมชน
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่เคทีซีเท่านั้น องค์กรอื่น ๆ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ในแบบฉบับของตนเอง เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ทั่วไทย โดยเฉพาะชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น