ปัจจุบันอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีความยั่งยืนด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
ประเทศไทยมีความโดดเด่นในเรื่องการเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านความงามและสุขภาพ ทั้งสมุนไพรและพืชพันธุ์อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนจุดเด่นที่มีให้ก้าวไปไกลให้ทั่วโลกได้รับรู้ จำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมาตรฐานและคุณภาพของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ระหว่างสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster)
โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย (TCOS) ร่วมลงนาม และดร.กัลยา อุดมวิทิต รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. พร้อมด้วย ดร.ธนธรรศ สนธีระ อุปนายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย เป็นพยานในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยพัฒนาชั้นนำของประเทศและบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
จุดแข็งของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ความงาม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
ในเรื่องของความโดดเด่นของเครื่องสำอางไทย มีความโดดเด่นในเรื่องของการเป็นแหล่งของพืชสมุนไพร ซึ่งโลกกำลังหันมาสู่ธรรมชาติเป็นความนิยมและตระหนักรู้ที่จะรักษ์โลก ด้าน BCG ในบ้านเราก็กำลังอยู่ในกระบวนการนั้น ซึ่งป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความโดดเด่นในด้านของการมุ่งไปหาความยั่งยืน
นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) เผยว่า ความร่วมมือกับองค์กรวิจัยระดับชาติ อย่าง สวทช. เป็นอีกการแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและทรัพยากร การร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมการผลิต รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน ซึ่งการที่ TCOS และ สวทช. ได้ร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือและให้บริการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงเป้าหมายในการสร้างความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม คุณภาพ และความปลอดภัยของเครื่องสำอางไทย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงการใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรชีวภาพของไทย เช่น สมุนไพร วัตถุดิบทางการเกษตรและจุลินทรีย์ ผนวกกับการใช้องค์ความรู้จากภูมิปัญญาไทยที่เป็น soft power อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใครในเวทีโลก และยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แม้เป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตและมีอนาคตที่สดใสในตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกันต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้าน คือ
1.การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า
2.การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน
3.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS ยังให้ความเห็นอีกว่า เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สร้างความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
การนำองค์ความรู้ด้านงานวิจัยมาต่อยอดพัฒนา ทำให้มีความสามารถที่จะแข่งขันมากขึ้น ทางด้าน สวทช. สามารถตอบรับช่วยขับเคลื่อนให้ไปถึงเป้าหมายได้มากขึ้น ในอุตสากรรมเครื่องสำอางจะใช้วัตถุดิบจำนวนมาก หากแต่ว่าวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีต้นทุนที่สูง ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ก็มีงานโดดเด่นหลายอย่างที่โลกต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรีย โปรไบโอติก และพืชที่มีคุณสมบัติทางการเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นมีโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งสูง และมีความหลากหลายทางชีวภาพ ในอนาคตไทยจะเป็นผู้ผลิตที่มีความสำคัญต่อโลกได้ภายใต้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน
นางลักษณ์สุภา เผยถึงเทรนด์เครื่องสำอางในยุคของความยั่งยืนว่า “ทั่วโลกพูดถึงว่าต้องการ Safe ingredient ต้องการความยั่งยืนในลักษณะของการรักษาสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลกให้อยู่ตลอดไป จะเริ่มมองด้าน sustainability และใช้วัตถุดิบในประเทศที่พัฒนาให้ถึงความสามารถสูงสุด”
FoodSERP เครื่องมือในการติดปีกอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม
FoodSERP เป็นแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของ สวทช. ในการผลักดันการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพในประเทศ ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรหลายภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและเวชสำอาง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อร่วมสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการผลิต
สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค สำหรับผลิต functional ingredients หรือ active ingredients และโรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง สำหรับผลิตเวชสำอางที่ได้มาตรฐานสากล รวมถึงแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
นอกจากนี้ สวทช. มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญของทีมวิจัย สวทช. ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ในรูปแบบ One-stop service ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือหลายๆ อย่างสำหรับการวิจัยทางอาหารหรือเวชสำอาง ทาง สวทช. มีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละกระบวนการอยู่มากมาย ดังนั้นเมื่อมีพลังเยอะขนาดนี้ จึงเกิดโครงการนี้ขึ้น โดยการดึงเอาเครื่องมือและเหล่านักวิจัย มา register อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของผู้ผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้อย่างครบวงจร นอกจากนี้เจตนารมณ์ของความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้เป็นรูปธรรม ยกระดับมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เวชสำอางของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ผนึกกำลังร่วมกันผ่านเครือข่ายพันธมิตรในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ที่จะช่วยสร้างผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ
แพลตฟอร์ม FoodSERP ซึ่งนำโดย ดร. กอบกุล เหล่าเท้ง และทีมวิจัยจากศูนย์แห่งชาติของ สวทช. มีความพร้อมทั้งด้านความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ที่จะช่วยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในด้านประสิทธิภาพ หรือที่เรียกว่า “สารสำคัญเชิงหน้าที่ (Functional ingredient)” เพื่อช่วยพัฒนาและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เวชสำอางออกสู่ตลาด รวมทั้งให้บริการพัฒนากระบวนการผลิต สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การขยายขนาดการผลิตในระดับโรงงานต้นแบบที่มีมาตรฐานสากลสำหรับทดลองตลาด ทดสอบทางคลินิกหรือทดสอบภาคสนาม และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์กลุ่มส่วนผสมฟังก์ชัน และสารสกัด (functional extracts) เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน สร้างรายได้เพิ่มแก่ผู้ประกอบการ และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเวชสำอางของไทย
เนื้อหาที่น่าสนใจ :