หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าน้ำมะพร้าวนั้นสามารถอัพไซเคิลมาเป็นหนังวีแกนได้ ซึ่งไอเดียนี้เป็นของสตาร์ทอัพด้านสิ่งทอของประเทศอินเดียซึ่งได้เปลี่ยนน้ำมะพร้าวให้เป็นหนังเทียมแทนการใช้หนังสัตว์ในการทำรองเท้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ในประเทศอินเดียในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้มะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก แต่รู้ไหมว่าน้ำมะพร้าวที่ถูกทิ้งปล่อยสู่ระบบระบายน้ำและธรรมชาติ จะทำลายสิ่งแวดล้อมโดยจะทำให้น้ำและดินเป็นกรด
จากปัญหาน้ำมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากถึง 4,000 ลิตรต่อวัน ส่งผลกับคุณภาพของน้ำและดิน Malai Cellulose สตาร์ทอัพด้านสิ่งทอสัญชาติอินเดีย ได้คิดค้นนวัตกรรมอัพไซเคิลเปลี่ยนน้ำมะพร้าวให้เป็นหนังวีแกน เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องหนังแทนการใช้หนังสัตว์
บริษัท Malai Cellulose ได้แนวคิดในการเปลี่ยนน้ำมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นหนังมาจากเซลลูโลสซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของผนังเซลล์พืช ซึ่งหนังเทียมที่ได้จากน้ำมะพร้าวมีความแข็งแรง ไม่ละลายในน้ำ และมีอุณหภูมิการหลอมตัวสูง
เทคโนโลยีการเปลี่ยนน้ำมะพร้าวเหลือทิ้งเป็นหนังเทียม โดยจะนำน้ำมะพร้าวมาหมักกับแบคทีเรีย 12-14 วัน จากนั้นน้ำมะพร้าวจะเปลี่ยนเป็นเซลลูโลส ซึ่งมีลักษณะคล้ายเยลลี่ที่มีความยืดหยุ่น จากนั้นจึงนำเข้าสู่กระบวนการผสมเส้นใยธรรมชาติ เช่น ใบสักหรือใยจากต้นกล้วย
หนังเทียมหรือหนังวีแกนที่ได้จากน้ำมะพร้าวเหลือทิ้ง หลังจากผ่านกระบวนการปรับแต่งด้วยเส้นใยธรรมชาติแล้ว จะได้วัสดุที่มีความทนทานและมีความยืดหยุ่น เมื่อนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นเรียบเพื่อแปลงสารชีวภาพให้เป็นสารที่คล้ายกับหนังสัตว์ ก็จะได้หนังวีแกนที่ใช้ในการผลิตรองเท้า กระเป๋า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
การอัพไซเคิลน้ำมะพร้าวเป็นหนังเทียมใช้พลังงานและน้ำในระหว่างการผลิตน้อยลง และยังไม่มีการเคลือบสารหรือพลาสติก ซึ่งสีสันต่างๆ ที่เห็นนั้นมาจากการย้อมสีธรรมชาติ
ที่มา : malai.eco
เนื้อหาที่น่าสนใจ :